คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1ที่ 2 และ ร. สามีโจทก์ที่ 3 ที่ตายไปแล้วกับจำเลยที่ 1 ให้แบ่งที่ดินมรดกระหว่างกัน ได้มีการตกลงแบ่งเขตที่ดินกันเป็นส่วนสัดแล้ว จึงตกเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร. และจำเลยที่ 1ตามส่วนที่ได้รับแบ่งมา แม้จำเลยที่ 1 จะได้นำที่ดินพิพาททั้งหมดไปออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเต็มทั้งแปลงก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และ ร. จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ร.ให้แก่พ. คงมีสิทธิที่จะยกส่วนของตนให้ พ.เท่านั้นเมื่อพ. ตาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาผู้รับมรดกของ พ.จึงไม่มีสิทธิดีไปกว่าพ. การที่จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2มีสิทธิขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนที่ได้รับมาให้แก่จำเลยที่ 3เท่านั้น ไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาททั้งหมดซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ร. รวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเพียงเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับแบ่งมรดกและต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่ศาลพิพากษาเพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งแปลงไม่ได้ คงเพิกถอนได้เฉพาะการซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ร.เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 กับนายรวม ทัพวงศ์สามีโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายเบนนางกลิ่น ทัพวงศ์ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายรวม ทัพวงศ์ และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1 ตำบลคลองขลุง เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา โดยรับมรดกมาจากบิดามารดา ต่อมานายรวมถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาจึงเป็นผู้รับมรดกที่ดินส่วนของนายรวม เมื่อปี 2504 โจทก์ที่ 1ที่ 2 และนายรวมฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยขอแบ่งที่ดินมรดกของนางกลิ่น ทัพวงศ์ ในที่สุดศาลพิพากษาตามยอม โดยให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายรวมหลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นายรวมและโจทก์ที่ 3 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความและได้ปลูกบ้านเรือนลงในที่ดินส่วนของตน โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายรวมได้ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามส่วนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนจนนายรวมถึงแก่กรรมลงและโจทก์ที่ 3 รับมรดกของนายรวม ต่อมาปี 2520 จำเลยที่ 1 ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้นายไพโรจน์ ทัพวงศ์ บุตรของจำเลยที่ 1 ทั้งแปลง ต่อมานายไพโรจน์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายไพโรจน์ได้ขายที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 120,000 บาท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2525 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายกันไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามรวมกันสามต่อสี่ส่วนตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามตามส่วน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถดำเนินการได้ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาที่ดินตามส่วนที่โจทก์ทั้งสามครอบครองแต่ละคนส่วนละ 50,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยจดทะเบียนซื้อจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเป็นบุคคลภายนอกคดี โดยเสียค่าตอบแทนจำนวน 120,000 บาท โจทก์ทั้งสามอาศัยอยู่ในที่ดินในฐานะผู้อาศัย จำเลยที่ 3 ได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่โจทก์ทั้งสามเพิกเฉยจำเลยที่ 3 ขอฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสามให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามโจทก์ทั้งสามพร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับรื้อสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทนี้ด้วย
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามอาศัยในที่ดินพิพาทในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์และถือสิทธิตามคำพิพากษา มิใช่อยู่ในฐานะผู้อาศัย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1 หน้าสำรวจที่ 1 ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือติดถนนกว้าง 4 วาลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งถัดจากที่ดินของโจทก์ที่ 2 ลงมาทางทิศใต้ด้านติดถนนกว้าง 4 วาลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน จำเลยที่ 3 ได้รับส่วนแบ่งถัดจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถัดลงมาทางทิศใต้ติดถนนกว้าง4 วา ลึกเข้ามาทางทิศตะวันตก จนสุดเขตที่ดิน และโจทก์ที่ 3ได้รับส่วนแบ่งถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ลงมาทางทิศใต้ด้านติดถนนกว้าง 4 วา ลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2504ของศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2504 โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และนายรวม ทัพวงศ์ สามีของโจทก์ที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีมรดกต่อศาลชั้นต้นขอให้แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกของนางกลิ่น ทัพวงศ์ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2504 โดยให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 1 หน้าสำรวจที่ 1เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายรวม ทัพวงศ์ โดยโจทก์ที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งที่ดินทางทิศเหนือ เนื้อที่ดินติดถนนกว้าง 4 วา ลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกสุดเขตที่ดินกว้าง 4 วา เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 56 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งที่ดินถัดจากโจทก์ที่ 2 ลงมาทางทิศใต้ติดถนนกว้าง 4 วา ลึกเข้าไปจนสุดเขตทิศตะวันตกกว้าง 4 วา เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 56 ตารางวา นายรวม ทัพวงศ์ สามีโจทก์ที่ 3ได้รับส่วนแบ่งที่ดินถัดจากจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศใต้สุดที่ติดถนนกว้าง 4 วา ลึกเข้าไปจนสุดที่ทางทิศตะวันตกกว้าง 4 วา หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์ที่ 1 กับที่ 2 และนายรวม ทัพวงศ์ ก็มิได้ขอบังคับคดีจนกระทั่งปี 2520 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายไพโรจน์ ทัพวงศ์ บุตรชายของตนซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง ต่อมานายไพโรจน์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2524 ทายาทของนายรวม ทัพวงศ์ ได้ยื่นคำร้องให้ศาลเรียกจำเลยที่ 1 มาทำการแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาแต่ศาลได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ เนื่องจากได้ยื่นคำร้องเป็นเวลานานเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2525จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 3ในราคา 120,000 บาท โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสามตามส่วนที่ได้รับแบ่งมาตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2504 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ และจำเลยที่ 3ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2 หรือไม่
ปัญหาข้อแรกนางสาวประยงค์ เรืองศรี ผู้รับมรดกความแทนที่โจทก์ที่ 1 นายเยื้อง ทัพวงศ์ โจทก์ที่ 2 นางสำเภา ทัพวงศ์โจทก์ที่ 3 เบิกความต่อศาลยืนยันต้องกันว่า หลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2504 ของศาลชั้นต้นแล้ว คู่ความในคดีดังกล่าวได้ตกลงแบ่งกันครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดต่อกันถึงปัจจุบัน โดยมีนายแปลง อุดมนิทัศน์พยานคนกลางซึ่งเป็นสารวัตรกำนันท้องที่ในขณะนั้นมาเบิกความยืนยันด้วยว่า หลังจากที่ศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว นายรวม(สามีโจทก์ที่ 3) ได้มาตามพยานให้ไปช่วยวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้คู่ความในคดีดังกล่าว จึงได้ลงมือรังวัดทางด้านทิศเหนือที่เป็นที่ดินส่วนของนายเยื้อง (โจทก์ที่ 2) กว้าง 4 วา ยาวตลอดทั้งแปลง เมื่อวัดเสร็จแล้วได้ขุดหลุมฝังหลักใหญ่แสดงเขตที่ดินไว้ ส่วนทางด้านหลังที่ดินก็ทำเช่นเดียวกัน ที่ดินในส่วนของนางน้ำวุ้น (โจทก์ที่ 1) ก็วัดต่อจากที่ดินในส่วนของนายเยื้องกว้าง 4 วาเช่นกัน ยาวตลอดทั้งแปลงและฝังหมุดแสดงหลักเขตด้วยถัดมาเป็นที่ดินของนางสาหร่าย (จำเลยที่ 1) แต่นางสาหร่ายบอกว่าไม่ต้องวัดและให้ไปวัดที่ดินของนายรวมขึ้นมา แต่บริเวณที่วัดนั้นมีบ้านของนายรวมปลูกคร่อมอยู่และล้ำเขตที่ดินไปในที่ดินของนางสาหร่ายประมาณ 1 วา นางสาหร่ายจึงขอเรียกเงินจากนายรวมจำเลย 1,000 บาท นายรวม ต่อรองเหลือ 500 บาทนางสาหร่ายก็ยินยอม พยานจึงรังวัดไปตามนั้น พยานโจทก์ปากนี้นอกจากจะเป็นพยานที่ไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีแล้วยังได้เบิกความให้รายละเอียดต่าง ๆ เจือสมด้วยเหตุผลน่าเชื่อถือจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าคู่ความในคดีที่ศาลพิพากษาตามยอมได้ตกลงแบ่งเขตที่ดินกันครอบครองเป็นส่วนสัดตั้งแต่ปี 2504 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามส่วนที่ได้รับแบ่งมาตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขที่ 43/2504 ของศาลชั้นต้นจริงตามฟ้องของโจทก์ทั้งสาม
ส่วนปัญหาต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามแต่ละคนตามส่วนที่ได้รับแบ่งมาตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะได้นำเอาที่ดินพิพาททั้งหมดไปออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเต็มทั้งแปลงก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และของนายรวมสามีของโจทก์ที่ 3 แต่อย่างใด เพราะการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะยกที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และของนายรวมสามีของโจทก์ที่ 3 ให้แก่นายไพโรจน์ ทัพวงศ์ บุตรของตนได้จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิที่จะยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตามที่ได้รับแบ่งมาตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นให้แก่นายไพโรจน์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายไพโรจน์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภรรยาผู้รับมรดกของนายไพโรจน์จึงไม่มีสิทธิดีไปกว่านายไพโรจน์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับแบ่งมาให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาททั้งหมดซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และของนายรวมสามีโจทก์ที่ 3รวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยที่ 3 หรือผู้อื่นได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2 หมดทั้งแปลง จำเลยที่ 3 คงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเพียงเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้รับแบ่งตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 43/2504 ของศาลชั้นต้นและต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 แพ้คดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นแต่ที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งแปลงตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องมานั้นไม่ถูกต้อง จึงเห็นสมควรพิพากษาแก้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1 หน้าสำรวจที่ 1 ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดดังกล่าว เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2ที่ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าวด้านทิศเหนือติดถนนกว้าง 4 วาลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1ที่ได้รับส่วนแบ่งถัดจากที่ดินของโจทก์ที่ 2 ลงมาทางทิศใต้ด้านติดถนน กว้าง 4 วา ลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน และเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 ที่ได้รับส่วนแบ่งถัดจากที่ดินของจำเลยที่ 3ลงมาทางทิศใต้ด้านติดถนนกว้าง 4 วา ลึกเข้ามาทางทิศตะวันตกจนสุดเขตที่ดิน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share