คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 และมาตรา 108 ทวิบัญญัติถึงผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 9 ออกเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ หากผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อน วันที่ 4 มีนาคม 2515 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจะต้อง ปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่มาตรา 108 บัญญัติไว้ก่อน ผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบจึงมีความผิดตามมาตรา 108 แต่ถ้า กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 9 ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไป แล้ว ผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 108 ทวิ มีความผิดทันทีโดยพนักงาน เจ้าหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้น บทบัญญัติ ทั้งสองมาตรานี้จึงบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิด มาตรา 9 ไว้ต่างกัน โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 เวลากลางวันและ กลางคืนติดต่อกัน จำเลยปลูกบ้านในที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นที่ดินของรัฐ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108,108 ทวิ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยปลูกบ้าน ตามฟ้องก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านบางส่วนเป็นทางสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108 ทวิ หากเป็นความผิดก็อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ กล่าวในฟ้อง โจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏ ในทางพิจารณาจึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ จึงไม่อาจ ลงโทษจำเลยตามมาตรา 108 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ โดยจำเลยได้ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108,108 ทวิ และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1), 108 ทวิ วรรคสอง จำคุก3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ใช้ค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครองให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากที่ดินที่เข้าไปยึดครอบครองด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และการป่าไม้ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วห้ามมิให้บุคคลใด (1) เข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่น สร้าง หรือเผาป่า ฯลฯ” มาตรา 108 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ถ้าผู้ฝ่าฝืนเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากที่ดินและหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษ ฯลฯ” และมาตรา 108 ทวิ บัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษ ฯลฯ” ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติตามที่มาตรา 108 และมาตรา 108 ทวิ บัญญัติถึงนั้น คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ซึ่งมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2515 ดังนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรา 108 และมาตรา 108 ทวิ บัญญัติถึงผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 9 ออกเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ หากผู้ฝ่าฝืน มาตรา 9 อยู่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่มาตรา 108 บัญญัติไว้ก่อนผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จึงมีความผิดตามมาตรา 108 แต่ถ้ากระทำการฝ่าฝืน มาตรา 9 ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2515 เป็นต้นไปแล้ว ผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 108 ทวิมีความผิดทันทีโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้จึงบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิด มาตรา 9 ไว้ต่างกัน คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยปลูกบ้านในที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นที่ดินของรัฐขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ แต่ได้ความจากคำเบิกความนายสุรินทร์ ศรีวิเชียร นายช่างรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี พยานโจทก์ตอบคำถามค้านว่าพยานไปรับราชการที่จังหวัดชลบุรี ปี 2510 ก็เห็นบ้านจำเลยแล้ว ทั้งได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกจิรพงษ์ ศิริประเสริฐโชค พนักงานสอบสวนตอบคำถามค้านว่าทราบว่า บ้านของจำเลยปลูกอยู่ก่อนปี 2512 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลูกบ้านตามฟ้องก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นเวลาก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ใช้บังคับ ฉะนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านบางส่วนเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ โดยจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ หากเป็นความผิดก็อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 และแม้โจทก์จะอ้างมาตรา 108 มาด้วยแต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 108 ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share