คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7626/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนกระทำการนอกเหนือขอบอำนาจของการเป็น ตัวแทน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหาย เป็นประการใดก็ชอบที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของโจทก์ตามกฎหมาย เมื่อคดีดังกล่าวโจทก์เป็นคู่ความและโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาดังกล่าวได้ หากเข้ากรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และคดี ถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษา ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าทนายความของโจทก์ ในฐานะตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยนอกเหนือขอบอำนาจ การกระทำของทนายโจทก์จึงไม่ผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่จำเลย ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3469/2538 และหมายเลขคดีแดงที่ 3299/2538 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3469/2538 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3299/2538ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ทนายความของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดในคดีดังกล่าว เป็นการกระทำไปนอกเหนือขอบอำนาจ สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทนายความของโจทก์ได้กระทำไป จึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนกระทำการนอกเหนือขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน ซึ่งหากโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหายเป็นประการใดก็ชอบที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวเมื่อคดีดังกล่าวโจทก์เป็นคู่ความและโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้วเช่นนี้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 หากโจทก์เห็นว่า ไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ หากเข้ากรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share