คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6869/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวก ได้หลอกลวงโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจัดส่งปอกระสาไปจำหน่ายต่างประเทศ ร่วมกันลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน และธุรกิจให้กู้ยืมเงินซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ร้อยละ 5 ต่อ 15 วันร้อยละ 4 ต่อ 7 วัน ร้อยละ 3 ต่อ 5 วัน จำเลยที่ 3 และที่ 5 กับพวกต้องการกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งเก้า และประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการดังกล่าว โจทก์ทั้งเก้าหลงเชื่อจึงให้กู้ยืมเงินหลายครั้ง การกระทำ ของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นการกระทำโดยทุจริต ร่วมกันหลอกลวง โจทก์ทั้งเก้าและประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ทั้งเก้า เป็นความผิดฐานร่วม กันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343,83 การที่โจทก์ทั้งเก้า ร่วมรับดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นโจทก์ทั้งเก้ามิได้ฟ้องร้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯหากแต่ฟ้องร้องในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งข้อหานี้ โจทก์ทั้งเก้ามิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันจะทำให้โจทก์ทั้งเก้าไม่เป็นผู้เสียหายโดย นิตินัย โจทก์ทั้งเก้าจึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้ การหลอกลวงหรือฉ้อโกงโจทก์ทั้งเก้าและประชาชนโดยสภาพแห่งการกระทำต้องกระทำต่อบุคคลหลายคนในลักษณะ ที่เป็นประชาชนและอาจต่างวาระกันได้แต่เห็นได้ชัดว่า เกิดจากเจตนาอันเดียวกันคือ ฉ้อโกงประชาชน จึงถือได้ว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั่วคราว
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 2 ปีคำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรกจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์ทั้งเก้ามีตัวโจทก์ทั้งเก้ามาเบิกความสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้มาพบอ้างว่าได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจัดส่งปอกระสาไปจำหน่ายต่างประเทศ ร่วมกันลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินและธุรกิจให้กู้ยืมเงินซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนร้อยละ 5 ต่อ 15 วัน ร้อยละ 4 ต่อ 7 วัน ร้อยละ 3 ต่อ 5 วันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องการกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งเก้าและประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการดังกล่าวโจทก์ทั้งเก้าหลงเชื่อจึงให้กู้ยืมเงินหลายครั้ง และได้มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตรงกำหนดนัด โจทก์ทั้งเก้าแต่ละคนจึงได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กู้ยืมเงินอีกหลายครั้งรวมเป็นเงิน44,345,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อ้างว่าแบ่งงานกันทำเป็นสาย ซึ่งสายของโจทก์ทั้งเก้าได้ให้จำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ยืม แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มาด้วยในบางครั้งและยืนยันว่าทำกิจการร่วมกัน โดยเคยนำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินราคา 38,000,000 บาทเศษ ตามเอกสารหมาย จ.4 สมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.19 มาให้ดูเพื่อแสดงว่ามีธุรกิจซื้อขายที่ดินและมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก จนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลบหนีและเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้เงินยืมก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาวันที่ 10 กันยายน2533 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้มาที่บ้านของจำเลยที่ 5ประชุมร่วมกับโจทก์ทั้งเก้าและเจ้าหนี้ที่ให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 กู้ยืมเงินอีกประมาณ 60 ถึง 70 คน จำเลยที่ 5บอกว่าจะขายที่ดิน 10,000,000 บาท มาชำระหนี้ให้แต่ก็ไม่ชำระ นอกจากนี้ โจทก์ทั้งเก้ายังมีนางพัชรินทร์ ศุภวัชรินทร์ มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันทำธุรกิจที่ดินและทำปอกระสาส่งไปต่างประเทศ และยังมี นายเดชา สุขนาวา นางพรนภา บำรุงราชหิรัณย์ นางนงลักษณ์ กาญจนสินหรือเครือทองศรี มาเบิกความสนับสนุนว่าพยานก็ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หลอกลวงกู้ยืมเงินเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งเก้าและได้ร่วมประชุมในฐานะเจ้าหนี้ที่บ้านของจำเลยที่ 5 ในวันที่ 10 กันยายน 2533 ด้วย ยิ่งไปกว่านี้ โจทก์ทั้งเก้ายังมีพยานแวดล้อมแสดงว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งเก้า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญหนักบริการโดยจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเอกสารหมาย จ.3 และจำเลยที่ 3 และที่ 4 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งเก้ายอมรับว่าได้เข้าร่วมประชุมที่บ้านของจำเลยที่ 5 ในวันที่10 กันยายน 2533 ทั้งการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเงินฝากเข้าและถอนออกจากหลายธนาคารเป็นจำนวนหลายครั้งมากมายและเป็นจำนวนเงินที่สูงอย่างเช่นบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทยจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.49 โดยจำเลยที่ 3 เป็นครูและจำเลยที่ 4 เป็นทนายความ แต่ไม่สามารถนำสืบถึงแหล่งที่มาแห่งรายได้รายจ่ายได้ การเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 น่าจะมีส่วนร่วมกันกู้ยืมเงินตามที่โจทก์ทั้งเก้าฟ้อง อันเป็นการเจือสมพยานหลักฐานโจทก์ทั้งเก้าด้วย พยานหลักฐานโจทก์ทั้งเก้าจึงหนักแน่นมั่นคงรับฟังได้ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งเก้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินก็ดี จำเลยที่ 3และที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กู้ยืมเงินโจทก์ทั้งเก้าก็ดี เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผลปราศจากน้ำหนักไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ทั้งเก้าได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งเก้าและประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ทั้งเก้าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาอีกว่า โจทก์ทั้งเก้ามิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยเพราะร่วมรับดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งเก้ามิได้ฟ้องร้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หากแต่ฟ้องร้องในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งข้อหานี้โจทก์ทั้งเก้ามิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย โจทก์ทั้งเก้าจึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมโจทก์ทั้งเก้าฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 3และที่ 4 ที่หลอกลวงโจทก์ทั้งเก้าแยกได้เป็นเก้ากรรมนั้นเห็นว่า การหลอกลวงหรือฉ้อโกงโจทก์ทั้งเก้าและประชาชนโดยสภาพแห่งการกระทำต้องกระทำต่อบุคคลหลายคนในลักษณะที่เป็นประชาชนและอาจต่างวาระกันได้แต่เห็นได้ชัดว่าเกิดจากเจตนาอันเดียวกันคือ ฉ้อโกงประชาชน จึงถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว
พิพากษายืน

Share