คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6319/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยนำสืบพยาน ของตนจนเสร็จสิ้นและแถลงหมดพยานจำเลย อันเป็นการเสร็จการพิจารณาในศาลชั้นต้นแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาจัดส่งคำร้องขอถอนฟ้องซึ่งพิพาทกันไปตรวจพิสูจน์ว่ามีการกรอกข้อความในแบบคำร้องดังกล่าวก่อนหรือภายหลัง ที่ผู้เสียหายลงลายมือชื่อนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องขอ อนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาเสียก่อน เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงไม่อาจดำเนินการให้ได้ คดีเดิมโจทก์ (ผู้เสียหายในคดีนี้) ยื่นคำร้องขอให้ยกคดี ขึ้นพิจารณาใหม่อ้างเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้อง ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลปรากฏว่า เป็นลายมือชื่อของโจทก์ ศาลจึง มีคำสั่งยกคำร้อง แต่คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยนำแบบพิมพ์คำร้องของศาลไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อโดยที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ แล้วจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ คำร้องดังกล่าวว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องอันเป็นเท็จ ต่อมาจำเลยนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อศาล ทำให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นความจริงการกระทำของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา กรณีเห็นได้ว่า ศาลในคดี เดิมได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ว่ามีเหตุให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพราะจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องหรือไม่ แต่คดีนี้เป็นเรื่องความรับผิด ในทางอาญาว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยกรอก ข้อความลงในแบบคำร้องซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้เสียหาย แล้วนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อศาลอันเป็นการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมตามฟ้องหรือไม่ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกันฟ้องของโจทก์คดีนี้จึง ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 268, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคสอง, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสองลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคสอง ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียวให้จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาจัดส่งคำร้องขอถอนฟ้อง ซึ่งพิพาทกันไปตรวจพิสูจน์ว่า มีการพิมพ์กรอกข้อความในแบบคำร้องดังกล่าวก่อนหรือภายหลังที่ผู้เสียหายลงลายมือชื่อนั้น เห็นว่าในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยนำสืบพยานของตนจนเสร็จสิ้นและแถลงหมดพยานจำเลยอันเป็นการเสร็จการพิจารณาในศาลชั้นต้นแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาดำเนินการดังกล่าวให้กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาเสียก่อน เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาจึงไม่อาจดำเนินการให้ดังที่จำเลยฎีกาได้แต่ถึงอย่างไรก็ตามผลการตรวจพิสูจน์คงเป็นแต่เพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น กรณีไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงผลคดีดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นได้
ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีที่ศาลจังหวัดมุกดาหารได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ (ผู้เสียหายในคดีนี้) โดยวินิจฉัยว่าคำร้องขอถอนฟ้องมิใช่เอกสารปลอม และมีคำสั่งให้ยกคำร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้นเห็นว่า คดีเดิมโจทก์ (ผู้เสียหายในคดีนี้) ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่อ้างเหตุจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้อง ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญของศาลกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานวิทยาการตำรวจ กรมตำรวจปรากฏว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ ศาลจังหวัดมุกดาหาร จึงมีคำสั่งยกคำร้อง แต่คดีนี้โจทก์ (พนักงานอัยการ) ฟ้องจำเลยว่าจำเลยนำแบบพิมพ์คำร้องของศาลไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อโดยที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ แล้วจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์คำร้องดังกล่าวว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องอันเป็นเท็จต่อมาจำเลยนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อศาลจังหวัดมุกดาหารทำให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา กรณีเห็นได้ว่า ศาลในคดีเดิมได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นที่ว่ามีเหตุให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เพราะจำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในคำร้องขอถอนฟ้องหรือไม่แต่คดีนี้เป็นเรื่องความรับผิดในทางอาญาว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยกรอกข้อความลงในแบบคำร้องซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายประสงค์ขอถอนฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้เสียหาย แล้วนำคำร้องดังกล่าวไปยื่นต่อศาลอันเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องหรือไม่ ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
พิพากษายืน

Share