คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ แต่รู้เห็นยินยอมให้ อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำอุปกรณ์ของจำเลยผู้เป็นนายจ้างออกไปทำหน้าที่ผู้จัดการประจำเขตการขายที่โจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ และการเป็นผู้จัดการประจำเขตเป็นคุณสมบัติเฉพาะบุคคลซึ่งผ่านการคัดเลือกจากจำเลยหาใช่มอบหมายให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ผ่านการคัดเลือกมาทำการแทนได้ไม่ การที่โจทก์ไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่รับเงินค่าจ้างทุกเดือนย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จะอ้างว่าเป็นลูกจ้างรายเดือนวันที่ไม่ทำงานยังมีสิทธิได้ค่าจ้างจึงไม่เป็นการทุจริตหาได้ไม่ เพราะลูกจ้างจะได้ค่าจ้างในวันที่ไม่ทำงานต้องเป็นกรณีลาหยุดงานโดยชอบหรือเป็นกรณีอื่น ที่กฎหมายบัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง แม้ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยไม่ได้ระบุว่าการกระทำใดเป็นความผิด และมีเพียงบทลงโทษการที่โจทก์ไม่ออกไปทำงานก็ตามแต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยมีตำแหน่งผู้จัดการประจำเขตการขายรับผิดชอบงานขายและจำเลยได้มีหนังสือส่งถึงโจทก์โดยตรง กล่าวย้ำถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งของโจทก์ ซึ่งลักษณะงานต้องติดต่อกับสาวเอวอนตลอดเวลา และหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดระบุชัดว่า รถยนต์ที่บริษัทจำเลยจัดหาให้โจทก์ จำเลยไม่อนุญาตให้บุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ผู้จัดการประจำเขตนำไปใช้เด็ดขาด การที่โจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบต้องติดต่อสาวเอวอนตลอดเวลา แต่โจทก์ ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ออกปฏิบัติงาน โดยรู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่น ออกแสดงเป็นผู้จัดการประจำเขต ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบ เกี่ยวกับการทำงานอยู่ในตัว และที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้ อ. ซึ่งไม่ใช่พนักงานของจำเลย นำรถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลย ไปใช้ย่อมเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยแจ้งชัด และนอกจากนี้การที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้ อ.เรียกเก็บค่าสมัครสาวเอวอนโดยไม่มีสิทธิ แอบอ้างชื่อสาวเอวอนสั่งสินค้า จากจำเลยแล้วไม่ชำระค่าสินค้า ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียง เกียรติคุณ และเสียทางทำมาหาได้ ถือได้ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอม ในการก่อความเสียหายดังกล่าวให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานฟังว่าโจทก์ยินยอมให้ อ.นำอุปกรณ์ไปรับสมัครสาวเอวอน เก็บค่าสมัคร แอบอ้างชื่อสาวเอวอน สั่งสินค้านำหลักฐานของผู้อื่นไปแอบอ้างสมัครทำให้จำเลยเสียหาย เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนเมื่อไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้าง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2527 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการประจำเขตการขายเขต 565 ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 31,655 บาท และได้รับค่าน้ำมันรถกับค่าโทรศัพท์เป็นการตอบแทนการทำงานเป็นจำนวนแน่นอนเดือนละ 7,150 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ38,805 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 26กันยายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผลประโยชน์ตอบแทนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของเงินต้นทุกจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ประพฤติผิดระเบียบของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงโดยเจตนาทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลย สิทธิเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจะสะสมไว้ไม่ได้ และต้องใช้ภายในแต่ละปีที่มีสิทธิเท่านั้น ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2539โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนสมทบจากจำเลย เพราะโจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากมีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการทำงานของจำเลยและเจตนาทุจริต โจทก์คงมีสิทธิได้รับเฉพาะเงินสะสมและผลประโยชน์จากเงินสะสมในส่วนของโจทก์จนถึงวันเลิกจ้างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 19,402.50 บาท และเงินสะสมกับผลประโยชน์จำนวน 164,125.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นมาจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่และไม่ได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิได้รับค่าจ้างทุกวันในหนึ่งเดือนไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ก็ตามนั้น เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่แต่รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำอุปกรณ์ของจำเลยออกไปทำหน้าที่ผู้จัดการประจำเขตการขาย เขต 565 ที่โจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอยู่การเป็นผู้จัดการประจำเขตเป็นคุณสมบัติเฉพาะบุคคลซึ่งผ่านการคัดเลือกจากจำเลย หาใช่มอบหมายให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ผ่านการคัดเลือกมาทำการแทนได้ไม่ การที่โจทก์ไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่แต่รับเงินค่าจ้างทุกเดือนย่อมเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จะอ้างว่าเป็นลูกจ้างรายเดือนวันที่ไม่ทำงานยังมีสิทธิได้ค่าจ้างจึงไม่เป็นการทุจริตหาได้ไม่เพราะลูกจ้างจะได้ค่าจ้างในวันที่ไม่ทำงานต้องเป็นกรณีลาหยุดงานโดยชอบหรือเป็นกรณีอื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.1 ว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง เพราะตามระเบียบข้อบังคับการทำงานเอกสารหมาย ล.8 ไม่ได้ระบุว่า การกระทำใดเป็นความผิด มีเพียงบทลงโทษ การที่โจทก์ไม่ออกไปทำงาน รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรไปรับสมัครสาวเอวอนและเรียกเก็บค่าสมัครโดยไม่มีสิทธิ จึงไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน และแม้จะฟังว่าผิดระเบียบข้อบังคับก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งผู้จัดการประจำเขตการขาย เขต 565 รับผิดชอบงานขายเขตจังหวัดราชบุรีปรากฏในหนังสือที่จำเลยส่งถึงโจทก์โดยตรง ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2540เอกสารหมาย ล.1 ได้กล่าวย้ำถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งของโจทก์ ซึ่งลักษณะงานต้องติดต่อกับสาวเอวอนตลอดเวลา และหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียด ข้อ 1.6 ระบุชัดว่า รถยนต์ที่บริษัทจำเลยจัดหาให้ ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้จัดการประจำเขตนำไปใช้เด็ดขาด ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า โจทก์ไม่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนำอุปกรณ์ของจำเลยออกไปทำหน้าที่ผู้จัดการประจำเขตการขาย เขต 565ทำการรับสมัครสาวเอวอนเรียกเก็บค่าสมัครโดยไม่มีสิทธิ แอบอ้างชื่อของสาวเอวอนสั่งสินค้าจากจำเลยแล้วไม่ชำระหนี้ นำหลักฐานของผู้อื่นไปแอบอ้างเป็นผู้สมัครสาวเอวอนทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของพนักงานของจำเลยทำให้จำเลยเสียชื่อเสียง เกียรติคุณเสียทางทำมาหาได้ เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบต้องติดต่อสาวเอวอนตลอดเวลา แต่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ออกปฏิบัติงานโดยรู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นออกแสดงเป็นผู้จัดการประจำเขต ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอยู่ในตัว และที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรซึ่งไม่ใช่พนักงานของจำเลยใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยแจ้งชัด ที่โจทก์รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรเรียกเก็บค่าสมัครสาวเอวอนโดยไม่มีสิทธิ แอบอ้างชื่อสาวเอวอนสั่งสินค้าจากจำเลยแล้วไม่ชำระค่าสินค้า ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงเกียรติคุณและเสียทางทำมาหาได้ ถือได้ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมในการก่อความเสียหายดังกล่าวให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.3 ถึง 5.5 ว่า ความจริงจำเลยยินยอมให้นางอุไรทำงานแทนโจทก์ก็ดี ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้นางอุไรกระทำการต่าง ๆ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงไม่ชอบก็ดีล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางทั้งสิ้น และที่อุทธรณ์ต่อไปว่าศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์ยินยอมให้นางอุไรนำอุปกรณ์ไปรับสมัครสาวเอวอน เก็บค่าสมัครแอบอ้างชื่อสาวเอวอนสั่งสินค้า นำหลักฐานของผู้อื่นไปแอบอ้างสมัครทำให้จำเลยเสียหายเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างอุทธรณ์ทั้งหมดดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share