คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3573/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรกได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้อง ค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริง ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งเกินสิบปีแล้วนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ที่ให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าโจทก์ผู้ถูกละเมิดได้รับเงินจากการทำละเมิดของจำเลยผู้ทำละเมิดเมื่อใด ซึ่งวันทำละเมิดนั้นย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะได้จ่ายเงินเพราะความเสียหายนั้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันทำละเมิดกับวันจ่ายเงินจากการทำละเมิดจึงแตกต่างกันวันจ่ายเงินจากการทำละเมิด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นวัน ทำละเมิดเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินสิบปีนับจากวันทำละเมิดแล้วแม้โจทก์จะฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์มีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกแนวเขตทางหลวงจังหวัดตัดผ่าน และต้องนำเจ้าของที่ดินไปยื่นคำขอ ณ สำนักงานที่ดินที่ดินตั้งอยู่ตามระเบียบของทางราชการ แต่ด้วยความบกพร่องต่อหน้าที่และประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ได้สำรวจตรวจสอบถึงที่ดินมีกรรมสิทธิ์รายนางลำจวน ชัยมงคลเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7397 ที่จะต้องถูกแนวเขตทางหลวงดังกล่าวตัดผ่าน ซึ่งหากจำเลยทั้งสี่ตรวจสอบพบ และนางลำจวนไปยื่นคำขอ ณ สำนักงานที่ดินไว้ โจทก์จะจ่ายค่าทดแทนให้แก่นางลำจวนเป็นเงินเพียง 26,025 บาท เนื่องจากราคาในท้องตลาดขณะนั้นราคาประเมินเพียงไร่ละ 15,000บาท แต่ด้วยความบกพร่องประมาทเลินเล่อในหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว จึงทำให้ที่ดินรายนางลำจวนตกสำรวจและเวนคืนไปในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ต่อมาในปี 2532 โจทก์มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแนวเขตทางหลวงจังหวัดดังกล่าว โจทก์จึงต้องจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดินบางส่วนในที่ดินของนางลำจวนดังกล่าว โดยไม่มีพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหมดอายุการใช้บังคับแล้วทำให้โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่นางลำจวนตามราคาในบัญชีกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งเป็นราคากลางตามท้องตลาดที่ทางราชการกำหนดในราคาไร่ละ 600,000 บาท เป็นเงิน 1,041,000 บาท ไปหากจำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความถูกต้องและระมัดระวัง จำเลยทั้งสี่จะตรวจสอบพบว่าที่ดินรายนางลำจวนจะต้องถูกแนวเขตทางหลวงจังหวัดตัดผ่านและจำเลยทั้งสี่จะนำนางลำจวนไปยื่นคำขอไว้ ณ สำนักงานที่ดินภายในระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ โจทก์จะจ่ายค่าทดแทนที่ดินรายนางลำจวนเป็นเงินเพียง 26,025 บาท จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มไปจำนวน1,014,975 บาท คืนแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่นางลำจวนไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 293,708.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,308,683.34 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 1,014,975 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากเหตุละเมิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เกิดขึ้นระหว่างปี 2513 ถึงปี 2523 แต่โจทก์เพิ่งมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่บกพร่องต่อหน้าที่และประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ระหว่างปี 2514 ถึง 2523 โจทก์ได้รับเงินจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสี่ไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534เป็นจำนวนเงิน 1,014,975 บาท แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่30 มีนาคม 2538 เกินสิบปีแล้วนับจากวันที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือกรณีแรกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สองมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขาดอายุความเมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่ในช่วงระหว่างปี 2514 ถึงปี 2523 ซึ่งเกินสิบปีแล้วนับถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง คดีโจทก์จึงขาดอายุความส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เพิ่งจ่ายเงินจากการละเมิดของจำเลยทั้งสี่ไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 จึงถือว่ามูลละเมิดเกิดขึ้นในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้นับอายุความสิบปีนับจากวันทำละเมิด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้จ่ายเงินจากการทำละเมิดเมื่อใด ซึ่งวันทำละเมิดนั้นย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะได้จ่ายเงินเพราะความเสียหายนั้นเมื่อใด ย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่งวันทำละเมิดกับวันจ่ายเงินจากการทำละเมิดจึงแตกต่างกันวันจ่ายเงินจากการทำละเมิดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นวันทำละเมิดส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เพิ่งทราบการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 และได้ฟ้องคดีในวันที่30 มีนาคม 2538 จึงไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินสิบปีนับจากวันทำละเมิดแล้ว แม้โจทก์จะฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ก็ขาดอายุความเช่นกัน
พิพากษายืน

Share