แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมและมีคำสั่งท้ายคำพิพากษาว่าบังคับตามยอม ทั้งมีคำสั่งไว้ที่หน้าสำนวนว่า บังคับ ตามยอม หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยโจทก์กับจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับนั้นไว้และจำเลยทราบคำบังคับนั้นแล้ว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จะ ต้องร้องขอให้บังคับคดีอีกชั้นหนึ่ง โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ประสงค์จะบังคับคดีโดยนำเงิน18,200,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ อันเป็นการชำระหนี้ต่างตอบแทนในการขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมแต่คำบังคับของศาลไม่มีกรณีต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต้องยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี การยื่นคำร้องดังกล่าวของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อเป็นการร้องขอให้บังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับก็ย่อมชอบ ด้วยกฎหมายด้วย แม้การบังคับคดีจะยังไม่แล้วเสร็จภายใน สิบปีก็ตาม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่17 เมษายน 2528 ว่า จำเลยตกลงขายที่ดินที่แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 3570 รวม 9 โฉนดคือ โฉนดเลขที่ 42585 ถึง 42592และ 29468 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งสามในราคา 20,000,000บาท โจทก์ทั้งสามจะชำระมัดจำ 1,000,000 บาท ภายในวันที่17 พฤษภาคม 2528 ชำระเงิน 3,000,000 บาท ภายในวันที่19 สิงหาคม 2528 จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสามภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2528 โดยโจทก์ทั้งสามจะต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงินโดยมีธนาคารอาวัลจำนวน 4 ฉบับฉบับละ 4,000,000 บาท ชำระเงินในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529,18 สิงหาคม 2529, 17 กุมภาพันธ์ 2530 และ 17 สิงหาคม 2530ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรทั้งสิ้นในการโอนโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสีย โจทก์ทั้งสามมีสิทธินำผู้อื่นมารับโอนหรือร่วมรับโอนได้ ให้จำเลยคืนเงินค่าก่อสร้างที่รับไว้แก่โจทก์ทั้งสาม เป็นเงิน 300,000 บาท และตกลงให้ค่านายหน้าเป็นเงิน 500,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสาม เงินทั้งสองรายการนี้ให้หักจากตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 โจทก์ทั้งสามและจำเลยตกลงเลิกคดีกันตามฟ้องและฟ้องแย้ง ต่างไม่เรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน ค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆ นอกจากที่ศาลสั่งคืนและค่าทนายความต่างเป็นพับ
ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2538 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่าโจทก์ทั้งสามได้ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 แล้ว ครั้นวันที่ 19 สิงหาคม 2528โจทก์ทั้งสามและจำเลยไปที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ไม่อาจกระทำได้เนื่องจากนายเจริญ วรรณโสภณ (ผู้ร้องที่ 1) กับพวกได้อายัดที่ดินและฟ้องเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยตั้งนายเจริญ วรรณโสภณ (ผู้ร้องที่ 1) กับนายเลิศ สุขบำเพ็ญเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวผันผู้ตาย คดีอยู่ระหว่างรอการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสามมีความประสงค์บังคับคดีจึงวางเงิน 18,200,000 บาท เพื่อชำระแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
วันที่ 17 เมษายน 2538 นายเจริญ วรรณโสภณ ผู้ร้องที่ 1ยื่นคำร้องขอให้งดบังคับคดี ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่มีเหตุงดบังคับคดี
วันที่ 5 มิถุนายน 2538 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสามได้นำเงินที่จะต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความ18,200,000 บาท มาวางศาลแล้วตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2538จึงขอให้ศาลมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามและขอให้ออกหมายเรียกให้จำเลยส่งต้นฉบับโฉนด 9 โฉนดต่อศาล
วันที่ 16 มิถุนายน 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จัดการให้นัดพร้อมหมายส่งสำเนาคำร้อง ให้จำเลยส่งมอบโฉนดแก่โจทก์ทั้งสามภายในวันนัด ไม่มีผู้รับให้ปิด ให้โจทก์ทั้งสามนำส่งใน10 วันนี้
วันที่ 7 สิงหาคม 2538 พันจ่าอากาศเอกอากร วรรณโสภณผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางสาวผันผู้ตายและเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทั้งสามทำกับจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 6386/2538 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อีกทั้งโจทก์ทั้งสามมิได้บังคับคดีภายในสิบปี ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสาม คือคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2538 เพราะถือว่าเป็นการร้องเข้ามาโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ว่า จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม การที่จำเลยไม่ดำเนินการโอนให้ โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะขอดำเนินการในชั้นบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาตามยอมได้ในฐานะที่เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนส่วนการที่ทายาทของผู้ตายจะดำเนินการขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในชั้นบังคับคดีของโจทก์ทั้งสาม จึงให้มีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ดำเนินการวางเงินค่าที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มิถุนายน2538 ที่สั่งให้จำเลยส่งมอบโฉนดให้แก่โจทก์ทั้งสาม กับรายงานกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 สิงหาคม 2538และหนังสือของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2538 ที่มีถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้นผิดระเบียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้ยกเลิกการบังคับคดีที่ล่วงพ้นระยะเวลาสิบปี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กระบวนพิจารณาของศาลชอบแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ 2 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 2 และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แล้วศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมและบังคับตามยอมเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และจำเลยว่า โจทก์ทั้งสามได้ร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีและกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมและมีคำสั่งท้ายคำพิพากษาว่าบังคับตามยอม ทั้งมีคำสั่งไว้ที่หน้าสำนวนว่าบังคับตามยอม หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยโจทก์ทั้งสามกับจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับนั้นไว้และจำเลยทราบคำบังคับนั้นแล้ว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้บังคับคดีอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 ว่า มีความประสงค์จะบังคับคดีโดยนำเงิน 18,200,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระแก่จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับ อันเป็นการชำระหนี้ต่างตอบแทนในการขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งตามคำบังคับดังกล่าวไม่มีกรณีต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต้องยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี จึงถือได้ว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามเป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528 แล้วโจทก์ทั้งสามร้องขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 จึงเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา เมื่อการร้องขอให้บังคับคดีของโจทก์ทั้งสามชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีเพื่อให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมและคำบังคับก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายด้วย แม้การบังคับคดีจะยังไม่แล้วเสร็จภายในสิบปีก็ตาม
พิพากษายืน