แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว ตามข้อ 1 และข้อ 5 ของกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคา ตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วแต่ราคาใด จะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ มาเป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 21 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนด เงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไว้เป็นพิเศษใน พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ การกำหนด เงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกัน ดังนั้นการที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534 เพียง อย่างเดียวจึงยังไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า “การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” ปรากฏว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคา ที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ. 2537 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2537ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิก พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2538ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 เท่ากับว่าขณะนี้ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาดังกล่าวอย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสาม กำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทน หรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ถ้าไม่หักราคาที่สูงขึ้นออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม หรือถ้าไม่กำหนดเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ลดลงให้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนหรือโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญดังกล่าวส่วนบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่ จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งวรรคสอง และวรรคสาม เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็หาใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ไม่ถ้าได้ความว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ทั้งสี่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ศาลย่อมมีอำนาจนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนหรือกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงได้ ฝ่ายจำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินหรือวางเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งราคาค่าทดแทนและแจ้งการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น เมื่อคิดคำนวณและหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทนแล้วเกลื่อนกลืนกันไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนจำเลยที่ 1มีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ทำการก่อสร้างทางหลวง จึงแจ้งการเข้าครอบครองที่ดินหลังจากครบกำหนด 60 วันนับจากวันที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือโจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2534 ดังนั้น วันที่ถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วัน อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสี่คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ก่อนการเข้าครอบครองหรือใช้ที่ดินนั้น เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 13 ก่อนเมื่อโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นเงิน 2,505,000 บาทโจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดให้เพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดด้วย นับแต่วันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินโจทก์ทั้งสี่คือวันที่18 กุมภาพันธ์ 2535 อันถือได้ว่าเป็นวันที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นอัตราขึ้นลงไม่คงที่โดยเป็นไปตามประกาศ ของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่โจทก์ทั้งสี่ขอ โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3742โดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวมาจำนวนเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิร่วมกันมิใช่กรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ชำระค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์รวม มิใช่แยกชำระค่าขึ้นศาลเป็นรายบุคคล ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเกิน 200,000 บาทมานั้นไม่ถูกต้อง สมควรสั่งคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ทั้งสี่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน11,233,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสองให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ก่อนถูกเวนคืนด้านทิศตะวันออกติดที่ดินแปลงอื่น แต่หลังจากถูกเวนคืนแล้วทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือด้านทิศตะวันออกติดทางหลวงเทศบาลที่สร้างใหม่ มีราคาสูงขึ้นจากตารางวาละ 5,000 บาท เป็นราคาตารางวาละ 35,000 บาทและมิได้ถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 จึงใช้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้และสามารถออกสู่ทางหลวงเทศบาลที่สร้างขึ้นใหม่ได้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3742ตำบลทุ่งวัดดอน (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก)กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 60 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 117 ตารางวาอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลเชื่อมระหว่างถนนสาธรกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงยานนาวาแขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 เมษายน 2531 โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนได้กำหนดเงินค่าทดแทนตารางวาละ5,000 บาท แต่หักกลบลบกับราคาที่สูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกัน ไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ทราบว่าจะเข้าครอบครองที่ดินหลังจากครบกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือคือวันที่ 19 ธันวาคม 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาเอกสารหมาย จ.7 และหนังสือเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล.2 โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.3 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่เห็นว่าขณะที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว ตามข้อ 1และข้อ 5 ของกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ มาเป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 และเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสี่ไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกันดังนั้น การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ถึง 2534จึงยังไม่เป็นธรรม ส่วนเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมควรเป็นจำนวนเท่าใดนั้น โจทก์ทั้งสี่มีนายไพโรจน์ โรจนพรสิน กับตัวโจทก์ที่ 3เบิกความว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาคดีนี้คือในปี 2531 ตารางวาละ 100,000 บาท ซึ่งเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ และที่โจทก์ที่ 1 กับนายฤทธิรงค์ ตันกิตติวนิตกุล หัวหน้าสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด อ้างว่าที่ดินของนายจันทร์ ปิยะนันทสมดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ประเมินราคาตารางวาละ 50,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อให้สินเชื่อของธนาคาร มิใช่ราคาซื้อขายกันตามปกติและเป็นราคาในปี 2532 และราคาประเมินที่ดินของนายสมควร ปิยะนันทสมดี ในปี 2530 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ก็ปรากฏว่ามีพิรุธ ไม่แน่นอนว่า ตารางวาละ 15,000 บาท หรือ 50,000 บาท นอกจากนี้ตัวโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าขณะอุทธรณ์เงินค่าทดแทนคือในปี 2535ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ราคาประเมินตารางวาละ 40,000 บาท ตามหนังสืออุทธรณ์เอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.3 และที่ดินของโจทก์ที่ 2และที่ 4 ซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ทั้งสี่คดีนี้ไม่เกิน 20 เมตรถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ซึ่งฝ่ายการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ37,000 บาท ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13แต่ก็เป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนซึ่งใช้ฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาในปี 2535 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสี่นำสืบมานั้นฟังไม่ได้ว่า ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 22 เมษายน 2531 มีราคาตารางวาละ 60,000 บาท ดังที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างมาในฟ้องและฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่จะต้องเวนคืนเนื้อที่ 117 ตารางวาตารางวาละ 40,000 บาท เป็นเงิน 4,680,000 บาทโดยฝ่ายจำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่าเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่สูงเกินไปนั้นนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสี่อย่างมากอยู่แล้ว โจทก์ทั้งสี่ไม่ควรได้รับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้สูงเกินกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ต่อไปว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือลดลงหากมีราคาสูงเพิ่มขึ้นจะนำราคาที่สูงเพิ่มขึ้นมาหักกับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่ต้องเวนคืนได้หรือไม่ เพียงใด แต่หากที่ดินดังกล่าวมีราคาลดลง โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้หรือไม่ เพียงใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า”การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืน พ.ศ. 2537 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2537 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นหรือลดลงของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนพ.ศ. 2537 พ.ศ. 2538 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538เท่ากับว่าขณะนี้ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามกำหนดหลักการไว้ว่าถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนหรือทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ราคาลดลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ถ้าไม่หักราคาที่สูงขึ้นออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะไม่เป็นธรรมแก่สังคม หรือถ้าไม่กำหนดเงินค่าทดแทนเฉพาะส่วนที่ลดลงให้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนหรือโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญดังกล่าวส่วนบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งวรรคสอง และวรรคสาม เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณออกใช้บังคับ ก็หาใช่เหตุที่จะทำให้ไม่สามารถนำหลักการสำคัญดังกล่าวมาใช้บังคับได้ไม่ถ้าได้ความว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ทั้งสี่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลงศาลย่อมมีอำนาจนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนหรือกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งราคาลดลงได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ทั้งสี่มีราคาสูงขึ้นหรือลดลงหรือไม่เพียงใด เห็นว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ด้านหลังซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องเวนคืนนั้นเดิมติดกับที่ดินบุคคลอื่น หลังจากการเวนคืนและสร้างถนนแล้วจะทำให้ที่ดินด้านนี้ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเปลี่ยนสภาพเป็นติดถนนทางหลวงเทศบาลกว้าง40 เมตร การเวนคืนเพื่อตัดถนนสายนี้ทำให้สภาพที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนมีสภาพดีขึ้นกว่าเดิมทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสี่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 343 ตารางวาและยังคงมีรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นรูปลักษณะที่ดี แม้จะมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ภายในระยะ15 เมตร ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินบางประการและที่ดินส่วนที่เหลือนี้อยู่ใกล้กับทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2ก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนควรมีราคาสูงขึ้น จึงต้องนำราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่จะต้องเวนคืน ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นนี้ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่จะต้องเวนคืนคือราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ โดยถือเสมือนว่าวันที่เป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคา ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนนี้อยู่ติดถนนทางหลวงเทศบาลที่สร้างใหม่อันเนื่องมาจากการเวนคืนกว้าง 40 เมตร แต่เนื่องจากมีการก่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขึ้นที่ 2 คู่กับทางหลวงเทศบาลในช่วงที่ผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งมีเสาตอม่อขนาดใหญ่ของทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 อยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนทำให้สภาพของที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนดีขึ้นจากเดิมไม่มาก ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนจึงมีราคาสูงขึ้นไม่มาก ที่ฝ่ายจำเลยกำหนดว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมอีกตารางวาละ 30,000 บาท เนื้อที่ 145 ตารางวาเป็นเงิน 4,350,000 บาท นั้น สูงเกินไปจำนวนราคาที่สูงขึ้นของที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่เหลือจากการเวนคืนที่เหมาะสมควรสูงขึ้นจากเดิมตารางวาละ 15,000 บาท เนื้อที่145 ตารางวา เป็นเงิน 2,175,000 บาท เมื่อนำเอาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่จะต้องเวนคืนจำนวน 4,680,000 บาท แล้ว โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 2,505,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” ปรากฏว่า ฝ่ายจำเลยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินหรือวางเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือแจ้งราคาค่าทดแทนและแจ้งการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามเอกสารหมาย จ.10 ว่า ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น เมื่อคิดคำนวณและหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทนแล้วเกลื่อนกลืนกันไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้สำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน บัดนี้ จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ทำการก่อสร้างทางหลวงจึงขอแจ้งการเข้าครอบครองที่ดินหลังจากครบกำหนด 60 วัน นับจากวันที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือนี้โจทก์ทั้งสี่ได้รับหนังสือฉบับนี้เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2534 ดังนั้น วันที่ถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันอันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสี่คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ก่อนการเข้าครอบครองหรือใช้ที่ดินนั้นเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13ก่อน เมื่อศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะต้องเวนคืนเป็นเงิน 2,505,000 บาท โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลกำหนดให้เพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดด้วย นับแต่วันที่ฝ่ายจำเลยมีสิทธิเข้าครอบครองที่ดินโจทก์ทั้งสี่คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535อันถือได้ว่าเป็นวันที่ต้องจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นอัตราขึ้นลงไม่คงที่โดยเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสี่ขอ
อนึ่ง โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3742โดยมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของทุกส่วนรวมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวมาจำนวนเดียวกัน เป็นการใช้สิทธิร่วมกัน มิใช่กรณีที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ชำระค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์รวม มิใช่แยกชำระค่าขึ้นศาลเป็นรายบุคคล ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นเกิน 200,000 บาท มานั้นไม่ถูกต้อง เห็นสมควรสั่งคืนส่วนที่เกิน
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทน2,505,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่ชำระเกินมา 80,840 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่