คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าเดิมตามความเห็นเบื้องต้นจากผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ยังมิได้ผ่านกระบวนการเพิกถอนที่โจทก์ร่วมผู้มีชื่อใน น.ส.3มีโอกาสที่จะพิสูจน์โต้แย้งโดยเต็มที่ได้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ในความผิดฐานบุกรุก ข้อเท็จจริงที่ น.ส. 3 มิได้มีการเพิกถอนตามที่ได้ร้องเรียน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ได้ทราบดีอยู่แล้วหากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ไม่ยอมรับสิทธิของโจทก์ร่วมที่พึงมีในที่พิพาทตามเอกสารราชการที่ยังมีผลอยู่ตามกฎหมายก็พึงดำเนินการใช้สิทธิของตนฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลได้ต่อไปตามขั้นตอนอันชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13กลับเลือกวิธีการเข้าไปปลูกต้นสัก ในที่ดินพิพาทโดยพลการเป็นการกระทำที่ไม่อาจอ้างเป็นการสุจริตได้ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 83,362

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365, 83
จำเลยทั้งสิบสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอุไร จิวานุพันธ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 83, 362จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบสามเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสิบสามกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1)ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 ถึง 13 ได้เข้าไปปลูกต้นสักในที่ดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 122ซึ่งมีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองจริงตามที่ฟ้องคดีมีปัญหาวินิจฉัยเป็นประการแรกตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาท น.ส.3 เลขที่ 122 มีการร้องเรียนว่าออกทับที่ดินป่าช้าเดิมและขอให้มีการเพิกถอนก็จริง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนแม้จะมีความเห็นของเจ้าหน้าที่เสนอให้มีการเพิกถอนก็ตามแต่ก็เป็นเพียงความเห็นจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนเป็นเบื้องต้นเท่านั้นทั้งยังปรากฎว่าผลการสอบสวนอันเป็นความเห็นเบื้องต้นดังกล่าวนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งการให้มีการเพิกถอนหรือแก้ไขนั้นยืนยันว่าไม่สามารถเพิกถอน น.ส.3 เลขที่ 122 ของโจทก์ร่วมได้เพราะได้ออกโดยชอบแล้วปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าเดิมตามความเห็นเบื้องต้นจากผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่นั้นจึงยังมิได้ผ่านกระบวนการเพิกถอนที่โจทก์ร่วมผู้มีชื่อใน น.ส.3มีโอกาสที่จะพิสูจน์โต้แย้งโดยเต็มที่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ด่วนฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) แล้วยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยนั้นศาลฎีกายังไม่อาจเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาวินิจฉัยต่อมาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2ถึง 13 เป็นความผิดตามที่ฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่น.ส.3 เลขที่ 122 มิได้มีการเพิกถอนตามที่ได้ร้องเรียนจำเลยที่ 2 ถึง 13 ได้ทราบดีอยู่แล้วสิทธิของโจทก์ร่วมที่พึงมีในที่พิพาทตามเอกสารราชการที่ยังมีผลอยู่ตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 หากไม่ยอมรับก็พึงดำเนินการใช้สิทธิของตนตามคำแนะนำที่ปรากฎในหนังสือของจังหวัดอุทัยธานีเอกสารหมาย จ.10 คือ ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลได้ต่อไปตามขั้นตอนอันชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ 2 ถึง 13กลับเลือกวิธีการเข้าไปปลูกต้นสักในที่ดินพิพาทโดยพลการเป็นการกระทำที่ไม่อาจอ้างเป็นการสุจริตได้ จึงต้องมีความผิดตามฟ้องดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งให้เหตุผลไว้โดยละเอียดและถูกต้องแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2ถึง 13 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share