คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อพัสดุอุปกรณ์พิพาท จำเลยได้กระทำก่อนสิ้นปีงบประมาณ2530 โดยจำเลยได้ขอเบิกเงินจากโจทก์ กองคลังของโจทก์เห็นว่าเงินงบประมาณในหมวดเงินตอบแทนใช้สอบและวัสดุไม่มีแล้วจึงแนะนำให้จำเลยเบิกจากเงินบำรุงการศึกษา แต่จำเลยไม่กระทำกลับไปให้ผู้ขายแก้ไขใบส่งของและสำเนาใบส่งของเป็นว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อพัสดุ 42 ครั้ง ในปีงบประมาณ2531 แล้วจำเลยนำพัสดุจัดซื้อมาดังกล่าวนำไปใช้ในหน่วยราชการของโจทก์ครบถ้วน เมื่อตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเว้นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ตรี ว่าส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะจ่ายเงินก่อนหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่นและห้ามมิให้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตาม พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจนกว่าจะได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว ส่วนมาตรา 26บัญญัติให้ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของส่วนราชการ กระทำการก่อหนี้ผูกพันหรือจ่ายเงิน หรือโดยรู้อยู่แล้วยินยอมอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวนั้นโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ได้ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ นอกจากความรับผิดทางอาญาซึ่งอาจได้รับตามกฎหมายอื่นแล้ว ผู้กระทำหรือผู้ยินยอมอนุญาตให้กระทำดังกล่าว จะต้องรับผิดชดใช้จำนวนเงินที่ส่วนราชการได้จ่ายไป หรือต้องผูกพันจะต้องจ่ายตลอดจนค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ให้แก่ส่วนราชการนั้น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำการขออนุมัติจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ในคดีนี้โดยชอบด้วยระเบียบของทางราชการโจทก์ในปีงบประมาณ 2530 และโจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากพัสดุครุภัณฑ์ที่จำเลยจัดซื้อครบถ้วนแล้ว และการที่จำเลยจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ที่พิพาทตามระเบียบ ของโจทก์และเสนอขอเบิกเงินจากกองคลังของโจทก์ในปีงบประมาณ2530 โดยจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าได้มีการกำหนดงบประมาณไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2530แล้ว และโจทก์ได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว การก่อหนี้ผูกพันของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยชอบ มิได้ฝ่าฝืน พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 และมาตรา 26 จำเลยได้จัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ประจำปีงบประมาณ 2530มาใช้ในทางราชการจากร้านค้าต่าง ๆ แต่จำเลยให้ผู้ขายแก้ไขใบส่งของและสำเนาใบส่งของเป็นว่าจำเลยสั่งซื้อพัสดุครุภัณฑ์ในคดีนี้ในปีงบประมาณ 2531 ไม่เป็นการก่อหนี้ผูกพันขึ้นใหม่แต่อย่างใด เพราะหนี้มีอยู่แต่เดิมแล้ว จำเลยกระทำการดังกล่าวก็เพียงเพื่อประสงค์จะขอเบิกเงินจากงบประมาณปี 2531ซึ่งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502มาตรา 27 แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยก่อหนี้ผูกพันไม่ชอบตามมาตรา 26 เท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยจ่ายเงินโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502มาตรา 26 เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการก่อหนี้ขึ้นใหม่เพื่อผูกพันงบประมาณปี 2531 และการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2530 ของจำเลยได้กระทำโดยชอบด้วยระเบียบของทางราชการจำเลยจึงไม่ต้องชดใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์ และพัสดุที่จำเลยสั่งซื้อได้นำไปใช้ในส่วนราชการของโจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจำเลยทั้งสองเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองนอกจากปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แล้วยังปฏิบัติงานอื่นที่ได้รับมอบหมายคือ จำเลยที่ 1ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้างานพัสดุ มีหน้าที่จัดซื้อจัดหาพัสดุตลอดจนรวบรวมหลักฐานเสนอผู้อำนวยการซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการในการอนุมัติเพื่อเบิกจ่ายด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานอาคารสถานที่กับเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ระหว่างนั้นจำเลยได้จัดซื้อพัสดุอุปกรณ์ประจำปีงบประมาณ 2530 มาใช้ในทางราชการจากร้านค้าต่าง ๆ รวม 42 ครั้ง เป็นเงิน592,360.50 บาท โดยไม่ทำรายงานเสนอต่อผู้อำนวยการเพื่ออนุมัติให้มีการจัดซื้อเสียก่อน ปรากฏว่าในปีงบประมาณ2530 นั้นโจทก์ไม่มีเงินงบประมาณที่จะจ่ายให้ผู้ขายในหนี้ผูกพันที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นนั้น ต่อมาในช่วงระยะเวลาของปีงบประมาณ 2531 จำเลยที่ 1 จึงนำใบส่งของทั้ง 42 รายการที่จำเลยที่ 1 ก่อหนี้ผูกพันดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่มีงบประมาณ ไปทำการแก้ไขให้ผู้ขายออกใบส่งของลงวันที่ในปีงบประมาณ 2531 และจัดทำบันทึกเสนอขออนุมัติจัดซื้อจัดทำใบเสนอราคาของผู้ขาย และจัดทำใบสั่งซื้อใหม่ประกอบใบส่งของที่จำเลยที่ 1 ทำการแก้ไขและให้ผู้ขายจัดทำขึ้นใหม่มาขอเบิกเงินจากโจทก์ในปีงบประมาณ 2531 ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จัดซื้อในปีงบประมาณ 2531 จึงจ่ายเงิน592,360.50 บาท ให้แก่ผู้ขายดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ซึ่งได้ร่วมตรวจรับพัสดุกับจำเลยที่ 1ด้วยรวม 19 รายการ เป็นเงิน 289,154.50 บาท ได้ทำการแก้ไขหลักฐานในการจัดซื้อ โดยจำเลยที่ 2 รู้ว่าพัสดุทั้ง19 รายการนั้น จำเลยที่ 1 จัดซื้อโดยผิดระเบียบ จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย และเมื่อระหว่างเกิดเหตุถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2533 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่เก็บรักษาพัสดุที่จัดซื้อมาดังกล่าวให้เป็นระเบียบเรียบร้อยปลอดภัยและครบถ้วนถูกต้องตามบัญชีคุม เป็นเหตุให้พัสดุจำนวน 30 รายการ รวมเป็นเงิน 377,305.50 บาท สูญหายไปอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน618,465.55 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำนวน 306,206.69 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 592,360.50 บาท และ289,154.50 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสุดใจ ประถมด้วงภรรยาของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน592,360.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2502 มาตรา 26 ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า การซื้อพัสดุอุปกรณ์พิพาทจำเลยที่ 1 ได้กระทำก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2530 ได้ขอเบิกเงินจากโจทก์ กองคลังโจทก์เห็นว่าเงินงบประมาณในหมวดเงินตอบแทนใช้สอยและวัสดุไม่มีแล้ว ได้แนะนำให้เบิกจากเงินบำรุงการศึกษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่กระทำกลับไปให้ผู้ขายแก้ไขใบส่งของสำเนาใบส่งของเป็นว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อพัสดุ 42 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2531
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พัสดุที่จำเลยที่ 1จัดซื้อมาในคดีนี้นำไปใช้ในราชการของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีซึ่งเป็นหน่วยราชการของโจทก์ครบถ้วน ปรากฏว่าพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 บัญญัติว่า”ยกเว้นกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ตรี ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายอื่นและห้ามมิให้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จนกว่าจะได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว
รายจ่ายมิได้จำนวนและระยะเวลาการจ่ายเงินที่แน่นอนผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้มีส่วนราชการจ่ายเงินโดยไม่ต้องขออนุมัติเงินประจำงวดก็ได้
เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ใช้บังคับแล้วให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการงบประมาณรายจ่าย ซึ่งจะต้องก่อหนี้ผูกพันและวงเงินที่คาดว่าจะต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อ ๆ ไปพร้อมทั้งจำนวนเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับและเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนและมิใช่กรณีตามวรรคสองหรือวรรคสาม คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณจ่ายจ่ายเพิ่มเติมก่อนได้รับเงินประจำงวดหรืออนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้” มาตรา 26 บัญญัติว่า”ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของส่วนราชการ กระทำการก่อหนี้ผูกพันหรือจ่ายเงิน หรือโดยรู้อยู่แล้วยินยอมอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวนั้นโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ได้ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้นอกจากความรับผิดทางอาญาซึ่งอาจได้รับตามกฎหมายอื่นแล้วผู้กระทำหรือผู้ยินยอมอนุญาตให้กระทำดังกล่าว จะต้องรับผิดชดใช้จำนวนเงินที่ส่วนราชการได้จ่ายไป หรือต้องผูกพันจะต้องจ่ายตลอดจนค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ให้แก่ส่วนราชการนั้น
บุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ได้ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ดังกล่าวในวรรคก่อน จะต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำการฝ่าฝืนตามความในวรรคก่อนเช่นกัน เว้นแต่จะแสดงได้ว่าตนได้กระทำไปโดยสุจริตไม่รู้เท่าถึงการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหรือระเบียบหรือข้อบังคับดังกล่าว
ความในวรรคแรกไม่ใช้บังคับแก่ข้าราชการหรือลูกจ้างซึ่งได้ทักท้วงคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นหนังสือแล้วว่าการที่จะปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับ”และมาตรา 27 บัญญัติว่า “การขอเบิกเงินจากคลังตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใดให้กระทำได้แต่เฉพาะภายในปีงบประมาณนั้น เว้นแต่
(1) เป็นงบประมาณรายจ่ายข้ามปี หรือ
(2) เป็นงบประมาณรายจ่ายที่ได้ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ หรือที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีให้เบิกเหลื่อมปี และได้มีการกันเงินไว้ตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลัง
ในกรณี (2) ให้ขยายเวลาขอเบิกเงินจากคลังต่อไปได้อีกไม่เกินหกเดือนปฏิทินของปีงบประมาณถัดไป เว้นแต่มีความจำเป็นต้องขอเบิกเงินจากคลังภายหลังเวลาดังกล่าว ก็ให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณี ๆ ไป” เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำการขออนุมัติจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ในคดีนี้โดยชอบด้วยระเบียบของทางราชการโจทก์ในปีงบประมาณ 2530 และโจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากพัสดุครุภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 จัดซื้อครบถ้วนแล้วการที่จำเลยที่ 1 จัดซื้อตามระเบียบของโจทก์และเสนอขอเบิกเงินจากกองคลังของโจทก์ในปีงบประมาณ 2530 แสดงว่าจำเลยที่ 1เข้าใจโดยสุจริตว่าได้มีการกำหนดงบประมาณไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2530แล้ว และโจทก์ได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว การก่อหนี้ผูกพันขอจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยชอบมิได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 และมาตรา 26 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้ขายแก้ไขใบส่งของและสำเนาใบส่งของเป็นว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อพัสดุครุภัณฑ์ในคดีนี้ในปีงบประมาณ 2531ไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ผูกพันขึ้นใหม่แต่อย่างใด เพราะหนี้มีอยู่แต่เดิมแล้ว จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็เพียงเพื่อประสงค์จะขอเบิกเงินจากงบประมาณปี 2531 แต่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 27เท่านั้นแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ก่อหนี้ผูกพันไม่ชอบตามมาตรา 26 เท่านั้นมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 26 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1ไม่เป็นการก่อหนี้ขึ้นใหม่เพื่อผูกพันงบประมาณปี 2531 และการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2530 ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยชอบดังที่วินิจฉัยข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์ และข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้นว่า พัสดุที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อในคดีนี้ได้นำไปใช้ในราชการของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีอันเป็นส่วนราชการของโจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ขณะจำเลยที่ 2 ลงนามตรวจรับพัสดุ19 รายการ เป็นเงิน 289,154.50 บาท โดยไม่มีพัสดุให้ตรวจสอบเพราะพัสดุดังกล่าวได้ส่งมอบให้โจทก์ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2530 แล้วและจำเลยที่ 1 ได้เก็บรักษาโดยจัดทำบัญชีคุมพัสดุแล้วการกระทำของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าร้านค้าเป็นผู้ขายพัสดุให้โจทก์ในปีงบประมาณ 2531 เป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินไปเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ก่อหนี้ผูกพันโจทก์โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 26 จำเลยที่ 2ต้องรับผิดด้วย เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502มาตรา 26 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชดใช้เงินให้โจทก์
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้พัสดุที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสูญหายไปเป็นเงิน 373,305.50 บาทต้องชดใช้ให้โจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้นว่า พัสดุที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมานั้นได้นำไปใช้ในราชการของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยราชการของโจทก์ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share