เรื่อง เช่าซื้อ (รถยนต์) สัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8427/2563
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
การตีความว่าสัญญาใดจะมีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร นอกจากจะต้องตีความจากข้อความที่เขียนไว้ในสัญญาแล้วยังต้องตีความถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญาโดยให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีตาม ป.พ.พ.มาตรา 171 และมาตรา 368 ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง ในประกาศดังกล่าวข้อ 4 (11) มีข้อกำหนดควบคุมเกี่ยวกับการทำสัญญาค้ำประกันว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง และก่อนที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะทำสัญญากันมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ประกาศใช้บังคับ มีผลให้การทำสัญญาที่มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 681/1 หลังจากนั้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อยื่นต่อโจทก์เนื่องจากต้องการเช่าซื้อรถยนต์ ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำคำเสนอทำหนังสือยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมยื่นต่อโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้างาน และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์อื่นใดอันจะทำให้จำเลยที่ 2 ยินยอมพร้อมใจร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีของการให้เช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจะพิจารณาทางการเงินของผู้เช่าซื้อหากฐานะทางการเงินของผู้เช่าซื้อไม่เพียงพอหรือไม่มันคงผู้ประกอบธุรกิจจะให้ผู้เช่าซื้อหาบุคคลอื่นมาค้ำประกันการเช่าซื้อ ประกอบกับรูปแบบและข้อความที่ปรากฏในคำเสนอขอทำหนังสือยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเอกสารหมาย จ.6 และสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.8 มีลักษณะเป็นแบบพิมพ์สำเร็จรูปที่กำหนดข้อความที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าการทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อตามปกติ จำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารหมาย จ.8 ในฐานะผู้บริโภคทำกับโจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการค้าจึงมีอำนาจต่อรองน้อย และน่าเชื่ว่ามีความรู้ความเข้าใจและความสันทัดจันเจนในการทำสัญญาเกี่ยวกับการเช่าซื้อและค้ำประกันน้อยกว่าโจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีของการให้เช่าซื้อรถยนต์และเจตนาอันแท้จริงในทางสุจริตแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำสัญญากับโจทก์เพื่อค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่โจกท์ให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมีข้อตกลงที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ำประกันย่อมถือได้ว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 12 สัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีชองประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับผิดต่อโจทก์