คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8393/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตราบใดที่ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ จะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนด เพราะที่ดินมีโฉนดเท่านั้นที่บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ ดังนี้ ระยะเวลาการเริ่มครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทมีโฉนด ที่ดินพิพาทผู้ร้องครอบครองจนถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลเพิ่งออกโฉนดมายังไม่ถึง10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้ร้องคงมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่งการที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9229 เนื้อที่ประมาณ17 ไร่ 1 งาน ซึ่งมีชื่อนายเหล็ก ปริโญชนะ ถือกรรมสิทธิ์
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้ว ไม่มีผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ออกโฉนดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน2539 เดิมเป็นที่ดินมือเปล่า มี น.ส.3 ก. นับแต่วันออกโฉนดที่ดินพิพาทจนถึงวันยื่นคำร้องขอต่อศาลผู้ร้องยังครอบครองมาไม่ถึง 10 ปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า ตราบใดที่ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ ย่อมครอบครองปรปักษ์ไม่ได้จะครอบครองปรปักษ์ได้ต่อเมื่อเป็นที่ดินมีโฉนด เพราะที่ดินมีโฉนดเท่านั้นที่บุคคลอาจมีกรรมสิทธิ์ได้ ข้อเท็จจริงตามกรณีของผู้ร้องระยะเวลาการเริ่มครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่วันที่ที่ดินพิพาทเพิ่งออกโฉนด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 ระยะเวลาที่ผู้ร้องครอบครองจนถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลจึงยังไม่ถึง 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้ร้องคงมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง แต่ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้เรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share