คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5187/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน นอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1)(4)และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ข้อ 1 และข้อ 5 เมื่อราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสูงกว่าราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ แต่เนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดิน อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่งซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคเป็นประโยชน์ต่อสังคมมิได้เป็นการกระทำที่มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มเติมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง(1) ถึง (5) จึงเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม และชอบด้วยกฎหมายแล้ว อำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลง เมื่อตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันมีราคาลดลงนั้นด้วย การที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้และได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25วรรคหนึ่ง ขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นแม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในครั้นนี้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้ แม้ที่ดินตามโฉนดส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 27 ไร่1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา จะมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้านแต่ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ใกล้กันกับที่ดินส่วนที่เหลือตามโฉนดของโจทก์อีกแปลงหนึ่งที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีเนื้อที่เหลือจากการถูกเวนคืนถึง 178 ไร่ 1 งาน 48 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวาและต่อมาโจทก์ได้ให้ พ. เช่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนตามโฉนดอีกแปลงหนึ่งดังกล่าวสร้างศูนย์การค้า ดังนี้สภาพโดยส่วนรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนจึงมีราคาสูงขึ้น มิใช่ราคาลดลง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวาถูกทางหลวงแผ่นดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ไม่สะดวกในการเข้าออกเพราะมีการเดินรถทางเดียว เมื่อปรากฏว่าโจทก์สามารถขออนุญาตต่อทางราชการขอเชื่อมทางเข้าออกที่ดินโจทก์กับทางหลวงแผ่นดินได้ ดังนี้แม้จะมีการเดินรถทางเดียวทำให้ไม่สะดวกไปบ้างก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลงเนื้อที่ดินของโจทก์ยังมีเหลือจากการถูกเวนคืนถึง 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางก่อนถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกติดถนนด้านทิศใต้ติดทางหลวงแผ่นดิน หากมีการก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์โดยที่มิได้มีการเวนคืน โจทก์ก็ต้องถอยร่นปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการก่อสร้างอาคารภายหลังการเวนคืนและโจทก์ต้องถอยร่นจากถนน จึงก็ไม่ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตลอดไปจึงขัดกับบทกฎหมายข้างต้น และศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้องตามมาตรา 26 วรรคสาม ได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมา และแม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย และเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2534 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2534อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13033 และ 310 เนื้อที่ดิน 33 ไร่ 70 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา และ 182 ไร่ 1 งาน 58 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา ตามลำดับต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพ-เชียงราย ตอนทางแยกต่างระดับรังสิต(แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (ทางเลี่ยงเมือง) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) พ.ศ. 2532 โดยให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนบางส่วน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทน 290,533,063 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน คือ อัตราร้อยละ 10 ต่อปี ในต้นเงิน 253,556,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนการเวนคืนเพิ่ม และเงินค่าทดแทนที่อ้างว่าทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงตามฟ้อง เพราะอธิบดีกรมทางหลวงในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1พ.ศ. 2532 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนกฎหมายซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว กล่าวคือ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งมีราคาสูงกว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ตารางวา 4,000 บาท อันเป็นราคาที่สูงที่สุดที่มีอยู่ในพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องใช้บังคับ เมื่อโจทก์ไม่พอใจ จึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เพิ่มเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่ดินที่ติดถนนพหลโยธินในรัศมี 60 เมตร ตารางวาละ 5,000 บาท นอกนั้นยืนราคาเดิม ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นเงิน2,567,977.66 บาท จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว การถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์มีผลทำให้ที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนนขาดมาตรฐานที่มีทางเดินรถมากขึ้นทั้งสี่ด้านการคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้นและเป็นศูนย์รวมการคมนาคมในย่านตลาดรังสิตเป็นผลดีแก่โจทก์ ทำให้ที่ดินของโจทก์ ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น และโจทก์มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนส่วนนี้ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทน เพราะการเวนคืนที่ดินเป็นไปตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิด หากโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ก็ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น19,543,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ10 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2534 ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 14,477,472 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13033 และ 310ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ดิน33 ไร่ 70 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา และ 182 ไร่ 1 งาน58 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา ตามลำดับ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพ-เชียงราย ตอนทางแยกต่างระดับรังสิต (แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (ทางเลี่ยงเมือง) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) พ.ศ. 2532 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2532 ที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือโฉนดเลขที่ 13033 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 98 เศษ 9 ส่วน 10 ตารางวา หรือเท่ากับ 2,298.9 ตารางวาจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 4,000 บาท เป็นเงิน9,195,600 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 310 เนื้อที่ 4 ไร่ 9 เศษ 8 ส่วน 10 ตารางวา หรือเท่ากับ 1,609.8 ตารางวา จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 4,000 บาท เป็นเงิน6,439,200 บาท รวมเป็นค่าทดแทนทั้งหมดจำนวน 15,634,800 บาทโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวจากจำเลยแล้ว แต่โจทก์ยังไม่พอใจจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มเป็นตารางวาละ 30,000 บาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 13033 และ 310 จากตารางวาละ4,000 บาท เป็นที่ดินส่วนที่ติดถนนพหลโยธินในรัศมี 60 เมตรตารางวาละ 5,000 บาท นอกนั้นยืนราคาเดิม ค่าทดแทนที่จำเลยจ่ายเพิ่มให้ให้แก่โจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 13033 เป็นเงิน1,233,600 บาท และดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก113,220.82 บาท รวมเป็นเงิน 1,346,820.82 บาท สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 310 จำเลยจ่ายค่าทดแทนเพิ่ม 1,118,500 บาท และดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 102,656.84 บาท รวมเป็นเงิน 1,221,156.84 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น17,986,900 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวจากจำเลยแล้ว
ปัญหาประการแรกว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาทยังไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมคือตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนจำเลยฎีกาว่าค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาท สูงเกินไปราคาที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ตารางวาละ 5,000 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้ใช้ราคาประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2531 ถึง 2533 ของกรมที่ดิน สำหรับที่ดินตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี หน่วยที่ 4(4.2) มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้โจทก์แต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน เพราะเป็นราคาคงที่ การพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนนอกจากจะคำนึงถึงราคาประเมินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินดังกล่าวแล้วยังจะต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับ สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ข้อ 1 และข้อ 5 เกี่ยวกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเห็นว่า ที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ขณะถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 30,000 บาท ก็เป็นการนำสืบพยานบุคคลลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนทั้งเมื่อพิจารณาถึงสภาพของที่ดินขณะถูกเวนคืนก็มีวัชพืชขึ้นรกและมีผู้บุกรุกเข้าไปอยู่อาศัย ส่วนที่ดินที่โจทก์ขายให้ธนาคารรวม 3 แปลง ซึ่งอยู่ต่างกันข้ามกับที่ดินที่ถูกเวนคืนคนละฟากถนนพหลโยธินก็เป็นที่ดินที่อยู่ในบริเวณศูนย์การค้าตลาดรังสิต เป็นที่ดินที่มีการพัฒนาและเจริญมากแล้ว ทั้งการซื้อขายแต่ละแปลงเนื้อที่เพียง 1 งานเศษ และเป็นการขายให้ธนาคารซึ่งราคาซื้อขายย่อมจะแพงว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด จึงเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดต่ำกว่าตารางวาละ 30,000 บาท และมีราคาใน พ.ศ. 2530 ต่ำกว่าตารางวาละ 24,000 บาท แต่เมื่อพิจารณาถึงที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งทิศตะวันตกติดถนนพหลโยธินและอยู่ใกล้ศูนย์การค้าตลาดรังสิตประกอบแล้ว เชื่อว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ออกใช้บังคับสูงกว่าราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ แต่เนื่องจากเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนครั้งนี้เพื่อสร้างและขยายทางหลวงแผ่นดินอันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่ง ซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภคเป็นประโยชน์ต่อสังคม มิได้เป็นการกระทำที่มีการแสวงหากำไรรวมอยู่ด้วย และการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มโดยคำนวณให้อีกตารางวาละ 5,000 บาทก็กำหนดให้โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาประการที่สองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอค่าทดแทนเพิ่มเฉพาะที่ดินที่ถูกเวนคืนอย่างเดียวโดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 13033 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงขอให้กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้ให้ด้วยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงยังมิได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนเพิ่มส่วนนี้ให้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ เห็นว่าเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นมีราคาลดลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันมีราคาลดลงนั้นด้วย”โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แม้โจทก์มิได้กล่าวในอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 13033 เฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาลดลงไว้ด้วย ก็ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรจะได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนนี้ได้
ปัญหาประการที่สามมีว่าที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงหรือไม่ เห็นว่า ตามรูปแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ แม้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 13033 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 จะมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ใกล้กันกับที่ดินส่วนที่เหลือตามโฉนดเลขที่ 310 ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 310มีเนื้อที่เหลือจากการถูกเวนคืนถึง 178 ไร่ 1 งาน 48เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ให้บริษัทพัฒนสินจำกัด เช่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนตามโฉนดเลขที่ 310สร้างศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ค พลาซ่า รังสิต แสดงว่าสภาพโดยส่วนรวมแล้วที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนน่าจะมีราคาสูงขึ้นมิใช่ราคาลดลง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 27 ไร่ 1 งาน 7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา ถูกทางหลวงแผ่นดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ไม่สะดวกในการเข้าออกเพราะมีการเดินรถทางเดียวก็ปรากฏว่าโจทก์สามารถขออนุญาตต่อทางราชการขอเชื่อมทางเข้าออกที่ดินโจทก์กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305ได้ และแม้จะมีการเดินรถทางเดียวทำให้ไม่สะดวกไปบ้าง ก็น่าจะทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลง
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าถูกจำกัดการใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารเพราะต้องถอยร่นห่างจากแนวถนนทั้ง 4 ด้าน ก็ได้ความว่าที่ดินของโจทก์ยังมีเหลือจากการถูกเวนคืนถึง 27 ไร่ 1 งาน7 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา ก่อนถูกเวนคืนที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกติดถนนพหลโยธิน ด้านทิศใต้ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 หากมีการก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์โดยที่มิได้มีการเวนคืนโจทก์ก็ต้องถอนร่นปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่แล้วดังนั้นหากมีการก่อสร้างอาคารภายหลังการเวนคืนและโจทก์ต้องถอยร่นจากถนนก็ไม่น่าจะทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ลดลง สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 13033 ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนราคาไม่ลดลง
ปัญหาสุดท้ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี คงที่ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นเพราะจำเลยมิได้ผิดนัดนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดไป ขัดกับบทกฎหมายข้างต้น จึงไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ถูกต้อง ตามมาตรา 26 วรรคสาม ได้โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินที่โจทก์ขอมาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในทำนองเดียวกัน แม้จำเลยจะมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้ชำระเพิ่มขึ้นตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วย ส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้นปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงกันในกรณีสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2534 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันคือภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่7 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share