แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนและมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 เนื่องด้วย พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการยกเลิก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 แต่ก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1ความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไว้ในมาตรา 89(6)มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 49 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจาก พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงอนุมาตรา (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้วแต่กลับปรากฏว่าฝ่าจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบการที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบ สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกากับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้นการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์แล้ว เมื่อราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามราคาประเมินที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว ย่อมมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริง ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ไม่มากจนถึงกับว่าเมื่อมีการซื้อขายกันจะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตามตารางวา โดยถือเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาที่ดินที่สูงขึ้นต่อปีใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 จึงนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว แม้โจทก์จะได้ขายที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปี แล้วก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญนั่นก็หมายถึงว่าพิจารณาถึงวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือขณะบังคับใช้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ที่จะเวนคืนแล้วแต่กรณี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสองตามลำดับ ให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนดที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ภายหลังโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินแปลงเดิมที่ถูกเวนคืนอันเป็นที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯจะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีก็ตาม ที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนซึ่งโจทก์ได้ขายไปแล้วนั้นก็ยังต้องถือว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืน เมื่อที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิมเช่นนี้ ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมจะสูงกว่าเดิมอันเนื่องมาจากการตัดถนนของทางราชการอย่างแน่นอน การที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมดังกล่าวจะต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองมิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติ ที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น เพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 เนื้อที่ 92 ตารางวา จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ต่อมามีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อสร้างทางและปรับระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เดิมที่โฉนดเลขที่ 2530มีเนื้อที่ 3 งาน 75 ตารางวา เมื่อประมาณปี 2523 โจทก์ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนออก ปรากฏว่าที่ดินถูกเวนคืนจำนวน92 ตารางวา ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 2 งาน 83 ตารางวาเจ้าหน้าที่ได้ออกโฉนดให้ใหม่เป็นโฉนดเลขที่ 30312 และโจทก์ได้ขายไปให้บุคคลภายนอกแล้วในปีเดียวกันในราคาตารางวาละ28,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าปกติเนื่องจากที่ดินส่วนที่เหลือมีเนื้อที่น้อยเกินกว่าที่จะประกอบธุรกิจได้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ตามโฉนด 3 งาน 77 ตารางวา ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 บางส่วนประมาณ 91 ตารางวา กำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 80,000 บาท และ 35,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น5,030,000 บาท แต่ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้น อันมีผลมาจากการตัดถนน เมื่อนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนแล้วเกลื่อนกลืนกันจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองและการนำค่าทดแทนการเวนคืนส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับไปหักกลบกับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และการที่จำเลยทั้งสองได้แจ้งขอหักกลบค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนกับราคาที่ดินส่วนที่เหลือจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ส่วนราคาค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ได้กำหนดไว้ 2 ราคา คือตารางวาละ80,000 บาท และ 35,000 บาท เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องและต่ำเกินไปและเป็นอัตราเดียวกันตลอดทั้งแปลง การที่จำเลยทั้งสองกำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ในอัตราไม่เท่ากันจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการคำนวณราคาค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองได้มาจากการพิจารณาถึงราคาที่ดินตามราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ กับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าราคาใดจะสูงกว่าและให้ถือเอาราคานั้นเป็นราคาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 โดยมิได้พิจารณาถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด นอกจากนั้นยังมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยให้ยกเลิกความในวรรคสี่ ของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนจึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าวอีกต่อไป แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มาพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ ในเนื้อที่92 ตารางวา ราคาตารางวาละ 500,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น46,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน2534 ถึงวันฟ้องจำนวน 7,289,424 บาท รวมเป็นเงิน53,289,442 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนจำนวน 53,289,424 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 46,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์อย่างใดเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 ได้กำหนดให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวแก่กระทรวงมหาดไทย มิได้ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นผู้กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน แต่ผู้กำหนดคือคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในการกำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์คณะกรรมการ ได้วางหลักเกณฑ์ว่า ที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนบางส่วนและส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืน มีเนื้อที่ตั้งแต่100 ตารางวา ขึ้นไป ให้ถือว่าที่ดินดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการเวนคืนโดยสภาพเพราะทำให้ที่ดินที่เหลือมีราคาสูงขึ้นให้นำบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาบังคับใช้ โดยคิดคำนวณที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหักออกจากค่าทดแทนแต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก การคำนวณหักค่าของที่ดินที่เหลือจากที่ถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นใช้วิธีคำนวณ โดยนำที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนนั้นมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่ตั้งอยู่ในโครงการคล้ายคลึงกันหรือใกล้เคียงกันที่สำเร็จแล้วมาคำนวณค่าทดแทน โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 เนื้อที่ตามโฉนด 375 ตารางวา ถูกเวนคืนบางส่วน จำนวน 91 ตารางวาคงเหลือที่ดิน 286 ตารางวา เข้าหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนซึ่งที่ดินของโจทก์กำหนดไว้เป็น 2 ราคา จึงกำหนดราคาให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,030,000 บาท แต่ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์บางส่วนเนื้อที่ 130.5 ตารางวา ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนคือเดิมอยู่ติดถนนในซอยอนุมานราชธนเมื่อการเวนคืนได้ตัดถนนผ่านที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินของโจทก์ติดถนนสองสายที่ดินจึงมีราคาสูงขึ้น คือสูงขึ้นจากราคาประเมินในปีปัจจุบันตารางวาละ 35,000 บาท เป็นตารางวาละ 80,000 บาทโดยเปรียบเทียบจากราคาประเมินในปัจจุบันของถนนสาธรราคาที่ดินที่สูงขึ้นเป็นเงิน 5,874,500 บาท เมื่อหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทนของที่ดินที่ถูกเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกัน จึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ การกำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงเป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน12,420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 กรุงเทพมหานคร เนื้อที่92 ตารางวา ที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์เนื้อที่ 283 ตารางวา (จำเลยทั้งสองว่า 286 ตารางวา)โจทก์ได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปทั้งแปลงในราคาตารางวาละ28,000 บาท แล้ว ตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ คณะกรรมการฯ ได้ถือเกณฑ์ราคาประเมินตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ของกรมที่ดินเป็นฐานในการพิจารณา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืน และมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 เนื่องด้วยพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แต่ก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไว้ในมาตรา 89(6)มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 49 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 ถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเองฉะนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ปัญหาประการต่อมามีว่า จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 135,000 บาท ทั้งแปลงโดยไม่ถือเกณฑ์ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534ของกรมที่ดินตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจากจำนวนที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้เดิมอีก 7,390,000 บาท โดยไม่ได้เอาราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือซึ่งมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากการตัดถนนผ่านมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะพึงได้รับย่อมไม่ถูกต้อง เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้วการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น การดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ข้อ 5 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 21 นี้ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5)ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมสำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511แล้ว แต่กลับปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.10 การที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มี การตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา กับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ยอมรับจึงได้กำหนดให้ใช้ราคาค่าทดแทนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 ของกรมที่ดิน คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้น การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีปัญหาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเมื่อกำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้วควรเป็นเงินจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยตารางวาละประมาณ 55,000 บาท ต่อปีการที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามสำเนาบัญชีราคาประเมินที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าวย่อมมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริงในปี 2531 ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ไม่มากจนถึงกับว่าเมื่อมีการซื้อขายกันจะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตารางวาละ135,000 บาท โดยถือเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินติดซอยอนุมานราชธนตามสำเนาบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 3 ตารางวาละ 80,000 บาท รวมกับราคาเฉลี่ยของราคาที่ดินที่สูงขึ้นตารางวาละ 55,000 บาทต่อปี น่าจะใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 นับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธินำเอาราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่มีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้หรือไม่เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ขายที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีแล้วก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญ นั่นก็หมายถึงว่าพิจารณาถึงวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือขณะบังคับใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ที่จะเวนคืนแล้วแต่กรณี เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นบทกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ ต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสอง ตามลำดับให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 ของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2530 ของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ภายหลังโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30312 เนื้อที่ 283 ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 2530 อันเป็นที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีก็ตามที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนซึ่งโจทก์ได้ขายไปแล้วนั้นก็ยังต้องถือว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนและข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบโดยที่โจทก์มิได้นำสืบหักล้างว่า เมื่อทางราชการตัดถนนผ่านที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือซึ่งมิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนอยู่ตรงมุมถนนที่ตัดใหม่กับซอยอนุมานราชธนทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิมเพราะอยู่ติดถนนสองสายและสองด้าน เมื่อที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ดินกว่าเดิมเช่นนี้ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมจะสูงกว่าเดิมอันเนื่องมาจากการตัดถนนของทางราชการอย่างแน่นอน การที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมดังกล่าว จะต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง มิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ในขณะที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21 วรรคสี่ ใช้บังคับการที่จำเลยกำหนดวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนเสียเองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทน และให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนจึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับกรณีมีปัญหาต่อมาว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้นเท่าใด ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบและฎีกาขึ้นมาว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือ283 ตารางวา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ในระยะ 20 เมตรจากซอยอนุมานราชธน จำนวน 155.5 ตารางวา ไม่มีค่าของความเจริญหรือราคาไม่สูงขึ้นแต่ส่วนที่ 2 ที่เลยระยะ 20 เมตรจากซอยอนุมานราชธน เนื้อที่ 130.5 ตารางวาเติมราคาประเมินตารางวาละ 35,000 บาท หลังจากทางราชการตัดถนนแล้วมีราคาตารางวาละ 80,000 บาท ซึ่งหมายถึงว่ามีค่าความจริงหรือมีราคาสูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนนี้จึงมีค่าความเจริญหรือราคาสูงขึ้นรวม 5,872,500 บาทค่าความเจริญหรือราคาที่สูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองนำสืบและฎีกาขึ้นมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงให้เอาราคาที่สูงขึ้นจำนวน 5,872,500 บาท ไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับทั้งหมดจำนวน 12,420,000 บาท
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคงที่นั้น ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน6,547,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ตามคำขอของโจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์