คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นในระหว่างสมรส ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 บัญญัติให้ถือเป็นหนี้ร่วมนั้นหมายถึงการเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อความในหนังสือรับสภาพหนี้จะระบุว่า จำเลยทั้งสองยอมรับผิดชำระหนี้จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ ศ. แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในหนังสือดังกล่าวหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คงมีจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่ลงชื่อไว้ในฐานะลูกหนี้ อีกทั้งในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ก่อหนี้ขึ้นและทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 2 มิได้มีฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด หนี้ที่จำเลยที่ 1ก่อขึ้นตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในระหว่างที่จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากันได้ยืมเงินนางศรีเจริญ ผดุงเจริญ ไปเป็นเงิน 800,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในกิจการของจำเลยทั้งสองที่ทำร่วมกัน จึงเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิด ต่อมานางศรีเจริญได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองให้แก่โจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ชำระหนี้ที่กู้ยืมจากนางศรีจรูญผดุงเจริญ ครบถ้วนแล้ว นางศรีจรูญจึงไม่ได้เป็นเจ้านี้จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ได้โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยกู้ยืมเงินจำนวน800,000 บาท จากนางศรีจรูญ แต่นางศรีจรูญซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หา เพื่อให้จำเลยทั้งสองใช้เป็นทุนรองรับการประกอบกิจการค้าระหว่างอยู่กินเป็นสามีภรรยากันโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยไม่สุจริต หนังสือรับสภาพหนี้ทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2ไม่รู้เห็นด้วย หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องกับหนังสือรับสภาพหนี้ทำขึ้นโดยโจทก์นางศรีจรูญและจำเลยที่ 1 สมคบกัน เพื่อให้โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน800,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกัน อีกทั้งไม่อุทธรณ์ฎีกาต่อมาว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยากันจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่28 พฤษภาคม 2533 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533นางศรีจรูญ ผดุงเจริญ เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1และนางศรีจรูญถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่งไปในราคา2,600,000 บาทเศษ จำเลยที่ 1 รับเงินราคาที่ดินมาแล้วนำไปใช้ในกิจการบริษัทเอ็นยิเนียริ่ง รีสอร์ทเซส (ประเทศไทย) จำกัดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้แบ่งให้นางศรีจรูญครึ่งหนึ่งตามสิทธิ ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่นางศรีจรูญบางส่วนคงค้างชำระ 800,000 บาท และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2535จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นางศรีจรูญ ตามเอกสารหมาย จ.2 หลังจากนั้นวันที่ 31 สิงหาคม 2535 นางศรีจรูญได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้กู้ยืมเงินนางศรีจรูญ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อความในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.2จะระบุว่า จำเลยทั้งสองยอมรับผิดชำระหนี้จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่นางศรีจรูญ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในหนังสือดังกล่าวหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยคงมีจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่ลงชื่อไว้ในฐานะลูกหนี้อีกทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินและรับเงินค่าที่ดินมา จำเลยที่ 2ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เพิ่งจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังและหย่าขาดจากกันก่อนทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเวลานานประมาณ 2 ปี ในช่องระยะเวลาที่จำเลยที่ 1ก่อหนี้ขึ้นและทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 2 มิได้มีฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ฉะนั้นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นดังกล่าวจึงไม่เป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทั้งนี้เพราะหนี้ที่สามีภริยาก่อขึ้นในระหว่างสมรส ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 บัญญัติให้ถือเป็นหนี้ร่วมนั้นหมายถึงการเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ดังกล่าว ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3156/2525 ระหว่างนายวิรัตน์ เอียตระกูล โจทก์ นางมี วรรณบุตรผู้ร้อง นายบุญ วรรณบุตร หรือวันบุตร จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share