แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงยอมรับมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์กับมีมติให้ ส. ไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลและฝ่ายโจทก์ยอมถอนฟ้องคดีนี้ หากศาลมีคำสั่งเรียก ส. มาแถลงเพื่อยืนยันมติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าว และเนื่องจากมติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในคดีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลแรงงานจะมีคำสั่งเรียก ส.กับพวกมาศาลเพื่อแถลงถึงมติที่ประชุมดังกล่าวให้ได้ความชัดเจนในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามหรือไม่โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เมื่อ ส. กับพวกมาศาลแถลงว่าโจทก์ไม่ได้รบความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม กรณีก็ไม่จำต้องสืบพยานในประเด็นข้อต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ จำกัด ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวิธีการสหกรณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตามระเบียบการดำเนินการของโจทก์กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกเป็นกรรมการดำเนินการคณะหนึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 9 คน อย่างมากไม่เกิน18 คน เป็นผู้แทนโจทก์ และคณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ระหว่างเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการใหญ่ จำเลยที่ 2 เป็นรองผู้จัดการใหญ่ และจำเลยที่ 3เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตผลทางการเกษตร จำเลยทั้งสามมีหน้าที่บริหารงานของโจทก์รวมทั้งครองครองดูแลควบคุมการรักษาเงินสดและทรัพย์สินของโจทก์ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือตามที่ควรกระทำเพื่อให้กิจการในหน้าที่ของแต่ละคนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแต่จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติผิดหน้าที่โดยทุจริตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยสมคบกับนายสินธ์กีรตยาคม อดีตประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์นายวิสิทธิ์ จันทะพงษ์ อดีตรองประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์นายสมคิด สุเมธโขิตเมธา และนายชัชชัย สุเมธโชติเมธาเบียดบังยักยอกและฉ้อโกงทรัพย์สินของโจทก์หรือที่โจทก์ควรจะได้รับจากการขายข้าวสารชนิดข้าวขาว 25 เปอร์เซ็นต์เลิศ ให้แก่องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน47,498,200 บาท โจทก์ได้ร้องทุกข์กล่าวหาคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสามกับพวกแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 47,498,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันสุดท้ายที่ยักยอก (31 สิงหาคม 2536) ถึงวันฟ้องเป็นเวลา1 ปี 7 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 6,056,020.50 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 53,554,220.50 บาท และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 47,498,200 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามมิได้เป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยทั้งสามมีหน้าที่บริหารงานของโจทก์ไปตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสามได้บริหารงานตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตตลอดมา มิได้ละเมิดหรือผิดสัญญาต่อโจทก์ มิได้ทุจริตแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่นตามที่โจทก์กล่าวหาตรงกันข้ามจำเลยทั้งสามได้บริหารงานจนเป็นผลให้งานของโจทก์เกิดผลดีเสมอมา และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นอาศัยจากการที่โจทก์กะประมาณด้วยตนเองไม่อาจทราบว่าโจทก์คิดคำนวณโดยอาศัยข้อมูลจากราคาขายของที่ใด จำเลยทั้งสามไม่อาจต่อสู้คดีเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องได้จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงว่า คดีส่วนอาญาที่โจทก์ได้ร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยทั้งสามกับพวกนั้น พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ชุดที่ 24 ครั้งที่ 15/2539 ลงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2539 ที่ประชุมมีมติว่า จำเลยทั้งสามไม่มีความผิดและโจทก์ไม่เสียหาย กับมีมติให้นายสุชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการดำเนินการไปชี้แจงต่อศาล จึงมีคำสั่งเรียกกรรมการดำเนินการซึ่งดำรงตำแหน่งชุดดังกล่าวประกอบด้วยนายสุชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการดำเนินการนายสุธรรม เฮ่งบุญ รองประธานกรรมการนายทรัพย์ งามสงวน รองประธานกรรมการ นายวิเชียร เชื้อไทยรองประธานกรรมการและเลขานุการ นายเทียนชัย กิติศรีวรพันธ์กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และนายวีระศักดิ์ ช่วยพัฒน์ผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มาศาลเพื่อสอบถามถึงมติคณะกรรมการดำเนินการดังกล่าว ครั้นถึงวันนัดบุคคลดังกล่าวยกเว้นนายวีระศักดิ์มาศาลแถลงว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ลงมติว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม รายละเอียดปรากฏตามรายงานการประชุมการที่ส่งศาลเอกสารหมาย จ.26 ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งงดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่าย ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2539
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในคดีส่วนอาญาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยทั้งสามกับพวก ประกอบกับคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ลงมติว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงไม่มีความเสียหายที่ จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ในระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายสุชัยออสุวรรณ กับพวก ซึ่งเป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ครั้งที่ 15/2539 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์2539 มาสอบถาม บุคคลดังกล่าวมาศาลแถลงถึงมติที่ประชุมว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสามตามรายงานการประชุมที่ส่งศาลเอกสารหมาย จ.26 ซึ่งมติที่ประชุมดังกล่าวเป็นเพียงให้ถือตามมติของคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 23 ครั้งที่ 22/2536-37 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ครั้งที่29/2536-37 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 และครั้งที่ 30/2536-37เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 เท่านั้น แต่มติของคณะกรรมการดำเนินการทั้งสามครั้งดังกล่าวมีมาก่อนมติของคณะกรรมการดำเนินการครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 และครั้งที่3/2537 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ซึ่งมีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามกับพวกนั้นยังไม่มีการเพิกถอนการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำแถลงของนายสุชัยกับพวกประกอบรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวซึ่งมิใช่พยานโจทก์ แล้วมีคำสั่งงดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายและพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา243(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31นั้น เห็นว่า มติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ชุดปัจจุบันตามรายงานการประชุมครั้งที่ 15/2539 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539ที่ลงมติว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสามโดยถือตามมติคณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมซึ่งประชุมครั้งที่ 22/2536-7 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 ครั้งที่29/2536-37 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 และครั้งที่ 30/2536-37เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 นั้น ย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนมติคณะกรรมการดำเนินการครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน2537 และครั้งที่ 3/2537 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ที่ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามกับพวกส่วนเหตุที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายสุชัยกับพวกมาสอบถามเพื่อแถลงถึงมติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ในการประชุมครั้งที่ 15/2539 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์2539 ก็สืบเนื่องจากในระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงยอมรับมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ กับมีมติให้นายสุชัยไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลและฝ่ายโจทก์ยอมถอนฟ้องคดีนี้ หากศาลมีคำสั่งเรียกนายสุชัยมาแถลงเพื่อยืนยันมติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าว และเนื่องจากมติคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวเกี่ยวข้องเป็นประเด็นสำคัญในคดี ดังนั้น จึงมีเหตุสมควรที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งเรียกนายสุชัยกับพวกมาศาลเพื่อแถลงถึงมติที่ประชุมดังกล่าวให้ได้ความชัดเจนในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสามหรือไม่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่22 มีนาคม 2539 และวันที่ 21 มิถุนายน 2539 ตามลำดับ ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 45 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ที่บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” ดังนั้น เมื่อนายสุชัย กับพวกมาศาลแถลงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม กรณีก็ไม่จำต้องสืบพยานในประเด็นข้อนี้ต่อไป การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายโดยรับฟังคำแถลงของนายสุชัยกับพวกประกอบรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน