แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 237 ทวิที่ให้ศาลซักถามพยานนั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาต้องการทนายความและศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ต้องการทนายความ หากแม้ศาลจะมิได้ซักถามพยานนั้นให้แทนจำเลยทั้งสาม การสืบพยานก็ชอบ และรับฟังคำเบิกความของพยานในการพิจารณาคดีเมื่อจำเลยทั้งสามถูกฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน189,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การปฎิเสธ
ก่อนฟ้องคดีต่อศาล โจทก์ยื่นคำร้องขอสืบนายโมฮัมหมัด อิสซ่า ผู้เสียหายที่ 1 กับนายโมฮัมหมัด อิบลัค ผู้เสียหายที่ 2 เป็นพยานไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ ศาลชั้นต้นอนุญาตและสืบพยานดังกล่าวไว้ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ส.7/2537 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 12 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำเบิกความในชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 189,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 8 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ฎีการับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และพวกอีก 1 คน ร่วมกันปล้นทรัพย์นาฬิกา 1 เรือน ราคา 1,500 บาท ธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจำนวน7,000 ดอลลาร์ และธนบัตรรัฐบาลไทยจำนวน 3,000 บาท ของนายโมฮัมหมัด อิสซ่า ผู้เสียหายที่ 1 กับนาฬิกาข้อมือ 1 เรือนราคา 5,000 บาท ธนบัตรรัฐบาลไทยจำนวน 10,000 บาท และทับทิม8,000 กะรัต ราคา 80,000 บาท ของนายโมฮัมหมัด อิบลัคผู้เสียหายที่ 2 ไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3มีว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ตามฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองก่อนฟ้องคดีในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ส.7/2537 ของศาลชั้นต้น ไม่สามารถรับฟังได้เพราะเป็นการสืบพยานฝ่ายเดียวและไม่ปรากฎว่ามีทนายความของผู้ต้องหาหรือจำเลยถามค้าน และไม่มีคำถามจากศาล ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 237 ทวิ วรรคสอง นั้น เห็นว่าตามคำร้องของพนักงานอัยการลงวันที่ 6 ตุลาคม 2537 ปรากฎว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวและต้องเดินทางออกจากประเทศไทย ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2537 โดยไม่มีกำหนดเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีก กรณีเป็นการยากที่จะนำผู้เสียหายทั้งสองมาสืบภายหน้าจึงขออนุญาตนำผู้เสียหายทั้งสองเข้าสืบพยานก่อนฟ้อง ซึ่งปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2537 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ส.7/2537 ของศาลชั้นต้นว่าศาลชั้นต้นได้สอบจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับทนายความโดยผ่านล่ามแปลแล้ว จำเลยทั้งสามแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ ครั้นเมื่อผู้เสียหายทั้งสองเบิกความก็ปรากฎว่าได้เบิกความตอบศาลไว้ด้วย หาใช่ไม่มีคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองตอบศาลดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ อย่างไรก็ตามกรณีที่ให้ศาลซักถามพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 237 ทวิ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาต้องการทนายความและศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ดังนั้น ในกรณีของจำเลยทั้งสองซึ่งไม่ต้องการทนายความหากแม้ศาลจะมิได้ซักถามพยานนั้นให้แทนจำเลยทั้งสามการสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งสองก็ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองในการพิจารณาคดีเมื่อจำเลยทั้งสามถูกฟ้องได้ตามมาตรา 237 ทวิ วรรคสี่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปล้นทรัพย์รายนี้ โดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายใส่ยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มและอาหารให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มและรับประทานจนทำให้ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับแล้วร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน