คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7196/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นบุคคล กลุ่มครูโรงเรียนอุดร เจ้าหนี้เป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของครูผู้เป็นสมาชิกกลุ่มครูโรงเรียนอุดร มิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล อีกทั้งไม่ได้ประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงไม่มีลักษณะคล้ายห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียน แม้กรรมการของกลุ่มครูโรงเรียนอุดรจะเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มครูโรงเรียนดังกล่าวและอยู่ในลักษณะเจ้าของรวม แต่เมื่อระบุในคำขอรับชำระหนี้ว่า ผู้ขอรับชำระหนี้คือ “กลุ่มครูโรงเรียนอุดรโดย ร. ผู้รับมอบอำนาจ” ไม่ใช่กรรมการของกลุ่มครูโรงเรียนดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2535 กลุ่มครูโรงเรียนอุดรเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 857,000 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำร้องขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้วนายประชุม ทองมี เจ้าหนี้รายอื่นโต้แย้งว่าลูกหนี้ไม่เคยเป็นหนี้ของเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้รายอื่นยื่นคำร้องขอถอนคำโต้แย้ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้เป็นเพียงกลุ่มบุคคลไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจึงไม่สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ และกรรมการของเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในฐานะเป็นเจ้าหนี้ร่วมแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เดิมโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่อมาในปี 2523 ได้แยกมาขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโดยแบ่งหน่วยงานออกเป็นการประถมศึกษาจังหวัดและการประถมศึกษาอำเภอสำหรับการประถมศึกษาอำเภอแบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนกลุ่มละ 7 ถึง 8 โรงเรียน ทั้งนี้ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2523ในเขตการประถมศึกษาอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมมีโรงเรียนที่สังกัด 52 โรงเรียนแบ่งเป็น 7 กลุ่มโรงเรียน เพื่อให้มีการช่วยเหลือกันระหว่างโรงเรียนภายในกลุ่มในด้านการเรียนการสอบและกิจกรรมต่าง ๆ รวมตลอดถึงการจัดตั้งสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือครูภายในกลุ่ม โดยให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกลุ่มโรงเรียนดังกล่าวมิได้เป็นนิติบุคคล แต่ละกลุ่มมีผู้บริหารโรงเรียนภายในกลุ่มเป็นกรรมการกลุ่มโดยตำแหน่งและมีการเลือกตั้งกรรมการจากครูสายผู้สอยมาเป็นกรรมการอีกจำนวนกึ่งหนึ่งของกรรมการโดยตำแหน่ง ทุก ๆ 4 ปีจะมีการเลือกตั้งประธานกลุ่มจากผู้บริหารโรงเรียนภายในกลุ่มเจ้าหนี้เป็นกลุ่มโรงเรียนหนึ่งในจำนวน 7 กลุ่มโรงเรียนของอำเภอเมืองนครปฐม ประกอบด้วยโรงเรียนวัดไผ่ล้อมโรงเรียนวัดตาก้อง โรงเรียนวัดพะเนียงแตก โรงเรียนบ้านนาสร้าง โรงเรียนบ้านมาบแค โรงเรียนบ้านห้วยชัน และโรงเรียนบ้านหนองขาหย่าง สำนักงานกลุ่มตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อมมีนายวิบูลย์ ภุมวรรณ เป็นประธานกลุ่ม นายสุทิน คนอยู่ เป็นรองประธานกลุ่ม นายธรรมนูญ บุญญะพัสน์ นายจิรศักดิ์ สุวรรณรุจิ นางสาววิมล ภุมวรรณ และลูกหนี้เป็นกรรมการ เจ้าหนี้มีรายได้จากเงินฝากเป็นค่าหุ้นสะสมรายเดือนของสมาชิกเพื่อนำไปให้สมาชิกภายในกลุ่มกู้ยืมและนำรายได้ไปใช้ในกิจการของกลุ่ม นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังกู้ยืมเงินจากบุคคลภายนอกมาให้สมาชิกกู้ยืมอีกด้วย เจ้าหนี้มีระเบียบให้สมาชิกแต่ละคนกู้ยืมเงินได้คนละไม่เกิน50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาจากบุคคลภายนอก 50 สตางค์ ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้หลายครั้ง ทั้งในนามตนเองและในนามสมาชิกอื่นเนื่องจากเกินวงเงินที่ตนเองจะกู้ได้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น746,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งต่อมาลูกหนี้ยอมรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.24
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นบุคคล โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ากลุ่มครูโรงเรียนอุดร เจ้าหนี้มิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพราะเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ ที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างตามฎีกาว่า เจ้าหนี้มีลักษณะคล้ายห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนเพราะเป็นการรวมกลุ่มของครูผู้เป็นสมาชิกเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีกรรมการบริการงานรับผิดชอบต่อสมาชิกและสมาชิกมอบหมายให้กรรมการดังกล่าวเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของตนแม้จะไม่ปรากฏว่ากรรมการกลุ้มได้รับมอบหมายจากสมาชิกทั้งหมดแต่กรรมการกลุ่มก็อยู่ในลักษณะเจ้าของรวม เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิกระทำการเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งกรรมสิทธิ์รวมได้ กรรมการกลุ่มจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการรวมกลุ่มของครูผู้เป็นสมาชิกกลุ่มครูโรงเรียนอุดรไม่ได้ประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะฟังได้แต่กิจการที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 จึงไม่มีลักษณะคล้ายห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน แม้กรรมการของกลุ่มครูโรงเรียนอุดรจะเป็นตัวแทนของสมาชิกกลุ่มครูโรงเรียนดังกล่าวและอยู่ในลักษณะเข้าของรวม แต่ตามคำขอรับชำระหนี้ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2535 ปรากฏชัดว่า ผู้ขอรับชำระหนี้คือ”กลุ่มครูโรงเรียนอุดร โดยนายเรืองยศ รมณียชาติผู้รับมอบอำนาจ” ไม่ใช่กรรมการของกลุ่มครูโรงเรียนดังกล่าวแต่อย่างใดฉะนั้นกลุ่มครูโรงเรียนอุดรซึ่งไม่มีฐานะเป็นบุคคลจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ดังวินิจฉัยไว้แล้วที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นชอบแล้วฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share