แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกเงินจำนวน 216,250 บาทก่อนที่จะแบ่งปันให้ทายาทต้องถือว่า ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาททุกคน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าวร่วมกันแล้ว และจำเลยที่ 1ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะเจ้าของรวม การที่โจทก์มาฟ้องขอแบ่งทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอแบ่งทรัพย์ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 โดยไม่มีอายุความมิใช่เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดก จะนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 รับเงินส่วนแบ่งมรดกไว้ ถือว่าจำเลยที่ 1 รับไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่ถือว่ามีการผิดนัดจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์จนกว่ามีการบอกกล่าวทวงถามเงินส่วนแบ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน มารดาของโจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสมใจ ประพัธน์สงคราม มารดาของโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2533 นางสมใจถึงแก่กรรม มีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกคือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่กับทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่ถึงแก่กรรมไปก่อน โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางสมใจแทนที่มารดาของโจทก์คนละครึ่ง ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกนางสมใจต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นเงินในธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด ของนางสมใจจำนวน 1,730,000 บาทให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งจะได้เงินคนละ 108,125 บาทแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาบางแค จำนวนเงิน 216,250 บาท สั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1ผู้เดียวโดยมิชอบและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพราะจำเลยที่ 1เรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วไม่นำเงินมรดกจำนวน 108,125 บาทแบ่งให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์มรดกดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เพิกเฉย จำเลยที่ 2 และที่ 3อ้างว่าแบ่งปันให้โจทก์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้หรือส่งมอบเงินมรดกจำนวน 108,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 8,028.28 บาท รวมเป็นเงิน 116,153.28 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 108,125 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิน 1 ปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า มารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเจ้ามรดกโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรของนางวารีมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางวารี จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางสมใจโดยชอบด้วยความตกลงระหว่างทายาทและผู้จัดการมรดกจึงสั่งจ่ายเช็คชื่อตัวแทนของทายาทแต่ละสายเพื่อแบ่งกันเองความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 108,125 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นบุตรของนางวารีและมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางวารีเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 วันที่ 18 กรกฎาคม 2533 จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมใจ ได้แบ่งทรัพย์มรดกของนางสมใจให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางวารีเป็นเงิน 216,250 บาท ต่อมาเดือนตุลาคม 2533โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีมรดก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า คดีนี้มีการตั้งจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกเงินจำนวน 216,250 บาท ก่อนที่จะแบ่งปันให้ทายาทต้องถือว่า ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแทนทายาททุกคนโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกดังกล่าวร่วมกันแล้วและจำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะเจ้าของรวมการที่โจทก์มาฟ้องขอแบ่งทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฟ้องขอแบ่งทรัพย์ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 โดยไม่มีอายุความหาใช่เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกไม่ จำเลยที่ 1 จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามคำร้องและคำแก้ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในส่วนที่ให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2534 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นให้นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 รับเงินไว้เพื่อให้ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 รับเงินส่วนแบ่งมรดกไว้ ถือว่าจำเลยที่ 1 รับไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ไม่ถือว่ามีการผิดนัด จำเลยที่ 1ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์จนกว่ามีการบอกกล่าวทวงถามเงินส่วนแบ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนแบ่งนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับเงินไว้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ให้ตามที่โจทก์ขอได้”
พิพากษายืน