แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขายมี แต่เพียงสิทธิครอบครอง หากมีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้ โจทก์แล้ว โจทก์ก็อาจได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377,1378 มิใช่ได้สิทธิครอบครองตามสัญญาซื้อขาย กรณีจึงมีการสืบพยานถึงการครอบครองที่ดินพิพาทได้ มิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารแต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์โจทก์ก็ยกขึ้นฎีกาได้เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า 1 แปลงอยู่ที่ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาเนื้อที่ 70 ไร่เศษ ทิศเหนือจดเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ทิศใต้จดทางสาธารณะ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดที่ดินผู้มีชื่อ โดยซื้อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2531 หลังจากซื้อแล้วโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม 2532 จำเลยทั้งสี่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยหากนำที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสี่บุกรุกให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าปีละ 50,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 50,000 บาท แก่โจทก์จนกว่าจำเลยทั้งสี่จะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามใบ ภ.บ.ท.5 เลขที่ 40/2532,41/2532 และ 43/2532 เป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที 3 มีเนื้อที่รวม81 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2531 โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ 13,000 บาท วางเงินมัดจำไว้ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20,000 บาท และจำเลยที่ 3 จำนวน60,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 953,000 บาท จะชำระเมื่อโจทก์นำที่ดินพิพาทไปออกโฉนดที่ดินได้แล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถนำที่ดินพิพาทไปออกโฉนดที่ดินได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงบอกเลิกสัญญาโดยยังไม่ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ ต่อมาวันที่28 พฤษภาคม 2532 โจทก์กับบริวารได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นเนื้อที่ 10 ไร่เศษ และบุกรุกส่วนของจำเลยที่ 2 เป็นเนื้อที่ 6 ไร่เศษ โดยโจทก์กับบริวารใช้รถไถไถทำลายมันสำปะหลังของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งปลูกไว้ทั้งหมดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 7,000 บาทและ 4,200 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ทำให้ได้รับความเสียหายปีละ 16,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและใช้ค่าเสียหาย 27,200 บาท กับใช้ค่าเสียหายอีกปีละ 16,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 4 เช่าที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้เนื้อที่ 20 ไร่เศษ จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้โจทก์แล้วเงินจำนวน 953,000 บาท มิใช่เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือแต่เป็นเงินค่าตอบแทนหากสามารถออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทได้ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดิน ภ.บ.ท.5 เลขที่ 40/2532, 41/2532 และ 43/2532 เนื้อที่16 ไร่เศษ ตามฟ้องแย้ง และใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ปีละ 1,000 บาท จนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ชำระให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาโดยที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละประมาณ 20 ไร่ และเป็นของจำเลยที่ 3ประมาณ 41 ไร่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2531 โจทก์กับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 โดยโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วคนละ 20,000 บาทชำระให้จำเลยที่ 3 จำนวน 60,000 บาท เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม2532 โจทก์นำรถไถไถที่ดินพิพาทที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ มันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ปลูกไว้เสียหายเป็นเงิน 3,000 บาท และเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ปีละ 1,000 บาท ที่โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาประการแรกว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ได้ซื้อขายที่ดินพิพาทกันตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ถึงจ.3 และสัญญาดังกล่าวระบุว่าได้มีการส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ต้องฟังตามนั้น จำเลยจะนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น ปัญหานี้แม้มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขายมีแต่เพียงสิทธิครอบครองหากมีการส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว โจทก์ก็อาจได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377, 1378 มิใช่ได้สิทธิครอบครองตามสัญญาซื้อขาย กรณีจึงมีการสืบพยานถึงการครอบครองที่ดินพิพาทได้ มิใช่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารแต่อย่างใด และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา คดีฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท และไม่เคยสละเจตนาครอบครองด้วยการโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ได้บุกรุกเข้ามาไถที่ดินพิพาททำให้จำเลยเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ขับไล่และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายทั้งกำหนดเป็นคดีมีทุนทรัพย์ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน