คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า ร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271หาได้มีความหมายแต่เพียงว่ายื่นคำขอต่อศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีเท่านั้นไม่ แต่มีความหมายรวมไปถึงหน้าที่อื่น ๆที่ผู้ขอให้บังคับคดีจึงพึงต้องกระทำเพื่อต้องกระทำเพื่อให้การบังคับคดีดำเนินไปได้อีกด้วย โจทก์ร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 แล้วมิได้ดำเนินการใด ๆ ใน ทางบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกเลย คงแถลงต่อเจ้าพนักงาน บังคับคดีให้ยึดแต่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น โจทก์เพิ่มจะมาร้องขอ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 และนำเจ้าพนักงาน บังคับคดีไปยึดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 ซึ่งพ้นสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดี แก่ทรัพย์ของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์จำนวน 479,143.80 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2520 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยจำเลยทั้งสองต้องชำระให้เสร็จภายในวันที่ 15 มกราคม 2521 หากผิดนัดยอมให้บังคับคดียึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 2592 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระจนครบแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ได้ขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองและนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 92102 พร้อมบ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2521 หรือวันที่ศาลออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521โจทก์จึงหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีเมื่อวันที่ 31มกราคม 2521 และแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีพร้อมแถลงยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2525 อันเป็นการร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อโจทก์นำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1ออกขายทอดตลาดแต่ไม่พอชำระหนี้ โจทก์จึงมีอำนาจยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ร้องขอออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นสินปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 2 ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หรือไม่ ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2520 โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2525 แต่เพิ่งร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า”ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” คำว่า ร้องขอให้บังคับคดีดังกล่าวหาได้มีความหมายแต่เพียงว่ายื่นคำขอต่อ ศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีเท่านั้นไม่ แต่มีความหมายรวมไปถึงหน้าที่อื่น ๆ ที่ผู้ขอให้บังคับคดีจะพึงต้องกระทำเพื่อให้การบังคับคดีดำเนินไปได้อีกด้วย เช่นแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นต้น และถ้ามีลูกหนี้หลายคน ถ้าผู้ขอให้บังคับคดีต้องการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนใดบ้างก็ต้องระบุให้ปรากฏอีกด้วยคดีนี้สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์เพียงแต่ร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 เท่านั้นแล้วมิได้ดำเนินการใด ๆ ในทางบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกเลยคงแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1เท่านั้น และตามหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ ยธ 0319(123) 21844 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530 ก็ฟังได้ว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายมาก่อนวันที่ดังกล่าว ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา แต่โจทก์ก็ไม่นำพา โจทก์เพิ่งจะมาร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม2533 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533ซึ่งพ้นสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share