คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกามีเพียง 10,750 บาท และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ส.ค.1 ของบิดาผู้ร้องสอดเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ก่อนเอกสารใบจองของโจทก์ จึงยืนยันความแน่นอนได้ว่าบิดาผู้ร้องสอดอยู่อาศัยในที่พิพาทก่อนโจทก์ โจทก์มีเพียงพยานบุคคล ส่วนสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยโจทก์ก็ทำขึ้นเองและมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสาระสำคัญ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าที่พิพาท พยานหลักฐานผู้ร้องสอดเชื่อได้ว่า ที่พิพาทเป็นของบิดาผู้ร้องสอดนั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ผู้ร้องสอดฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 64 ตำบลศาลาลำดวน (ตำบลบ้านแก้ง)อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ 52 ไร่ เมื่อวันที่ 14พฤษภาคม 2530 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนจากโจทก์เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ มีกำหนด 1 ปี คิดค่าเช่ากันปีละ 600 บาทเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่า และไม่ส่งมอบที่ดินคืน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าและออกไปจากที่ดินของโจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
นางสาวสุภี บุตดีงาม ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นบุตรสาวของนายทองดี บุตดีงามหรือบุตร์ดีงาม ระหว่างที่นายทองดีมีชีวิตอยู่มีที่ดิน 1 แปลง ตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1) เลขที่ 163 หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาลำดวน (ตำบลบ้านแก้ง)อำเภอสระแก้ว (กิ่งอำเภอสระแก้ว) จังหวัดปราจีนบุรีเนื้อที่ 25 ไร่ หลังจากนายทองดีถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ที่ดินที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นที่ดินของผู้ร้องสอดซึ่งนายทองดีบิดาผู้ร้องสอดได้ให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่บิดาผู้ร้องสอดยังมีชีวิตคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ราคาประมาณ 5,000 บาท ขอให้ห้ามโจทก์มิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายทองดี บุตดีงามหรือบุตร์ดีงาม จึงไม่มีอำนาจร้องสอดที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ให้จำเลยเช่ามาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม2530 มิใช่อยู่ในที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)ของบิดาผู้ร้องสอด และคดีของผู้ร้องสอดขาดอายุความ 1 ปี
จำเลยยื่นคำให้การแก้ร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นพี่สาวของภรรยาจำเลยและเป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวสืบต่อจากนายทองดีบุตดีงามหรือบุตร์ดีงาม หลังจากนายทองดีตายแล้ว ผู้ร้องสอดและทายาททุกคนให้จำเลยและภรรยาอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามที่ปรากฎในแผนที่พิพาทกลาง และให้จำเลยชำระเงิน 600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และห้ามมิให้ผู้ร้องสอดครอบครองบริเวณที่พิพาทอีกต่อไป
จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดีศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้ หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์” คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียง 10,750บาท และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ส.ค.1 ของบิดาผู้ร้องสอดเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ก่อนเอกสารใบจองของโจทก์จึงยืนยันความแน่นอนได้ว่าบิดาผู้ร้องสอดอยู่อาศัยในที่พิพาทก่อนโจทก์ โจทก์มีเพียงพยานบุคคล ส่วนสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3ก็ทำขึ้นเองและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสาระสำคัญไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าที่พิพาท พยานหลักฐานผู้ร้องสอดเชื่อได้ว่าที่พิพาทเป็นของบิดาผู้ร้องสอดนั้น เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ผู้ร้องสอดฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องสอดมาจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาของผู้ร้องสอด

Share