คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับโจทก์ที่ 1แล้ว โจทก์ที่ 7 และที่ 8 มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงยุติสำหรับโจทก์ที่ 7 และที่ 8 การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 2 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ประมาทตามฟ้องโจทก์นั้นเป็นการวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทแล้วย่อมผูกพันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 จะมิได้เข้าเป็นคู่ความก็ต้องถือว่าอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงไม่ต้องรับผิดด้วย แต่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1 ต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในคดีใหม่ซึ่งเมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ในสำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนที่สองเป็นโจทก์ที่ 7 ที่ 8และเรียกโจทก์ในสำนวนที่สามเป็นโจทก์ที่ 9 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2ในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 3 ที่ 5 ในสำนวนที่สองเป็นจำเลยที่ 3 ที่ 4
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องในทำนองเดียวกันว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นผู้โดยสารในรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-0090ฉะเชิงเทรา ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองโดยร่วมกับจำเลยที่ 3 รับส่งคนโดยสาร ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวชนกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียนกงจักร 8311 ของจำเลยที่ 2 โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ราชการของตน จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับด้วยความเร็วสูงและแซงรถคันอื่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในเส้นทางของรถยนต์โดยสาร และจำเลยที่ 4 ก็ขับรถด้วยความเร็วสูงจนเป็นเหตุให้เกิดการชนกันขึ้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายโดยโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 9 ขอให้โจทก์ที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าเสียหายด้วย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิด เหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 4 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่ามิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียวค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 และโจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับโจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 7 และที่ 8 มิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงยุติสำหรับโจทก์ที่ 7และที่ 8 ที่โจทก์ที่ 7 และที่ 8 ฎีกาขอให้จำเลยที่ 3 และที่ 4กับโจทก์ที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาที่ว่าคำพิพากษาของศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ที่ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น มีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 2 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ประมาทตามฟ้องโจทก์นั้น ย่อมเป็นการวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทแล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นผู้เสียหายในคดีที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 จะไม่ได้เข้าเป็นคู่ความก็ต้องถือว่าอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ถึงที่ 9 เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 และไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 9ด้วย แต่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีดังกล่าว และโจทก์ที่ 1 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 1 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ใหม่ ซึ่งเมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 495,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share