แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อส. ผู้ให้กู้แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยเสียไปไม่ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระจะใช้มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่) บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสายฮวย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526 จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนางสายฮวยไป50,000 บาท สัญญาให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2526 นับแต่จำเลยกู้ยืมเงินไปจำเลยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่นางสายฮวยเลย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องเพียง 5 ปี เป็นเงิน 37,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 87,500 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์หรือนางสายฮวย ทั้งไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมที่โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นทั้งฉบับ หนังสือสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่ชัดเป็นโมฆะ และโจทก์ฟ้องคดีหลังจากนางสายฮวยถึงแก่ความตายไปเกิน1 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 68,750 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับจากวันฟ้อง (วันที่ 26 ตุลาคม 2533)ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยกู้ยืมเงินนางสายฮวยไปตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ไว้จริงเฉพาะลายมือชื่อผู้ให้กู้นั้นไม่ใช่ลายมือชื่อนางสายฮวย เป็นลายมือชื่อปลอมปัญหาว่าหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับจำเลยผู้กู้ได้หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” เห็นได้ว่ากฎหมายบังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วยดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1และลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้ว ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อนางสายฮวยเป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยได้ที่สมบูรณ์อยู่แล้วเสียไปไม่
ปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จชอบหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่าเป็นการขยายอายุความคิดดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนด 5 ปีต่อไปอีกนั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม(มาตรา 193/33 ใหม่) นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระจะใช้มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)บังคับไม่ได้ ถ้าการพิจารณาคดียืดเยื้อโจทก์ย่อมมีสิทธิได้ดอกเบี้ยเกิน 5 ปี โดยไม่มีกำหนดอายุความ
พิพากษายืน