คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5853/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารใบรับเงินให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยาน ก็เนื่องจากโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารดังกล่าว และได้ยื่นบัญชีระบุพยานเข้ามาในระหว่างที่ยังสืบพยานโจทก์ไม่เสร็จ จำเลยย่อมมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวและนำพยานมาสืบหักล้างได้ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นว่านั้น จึงมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 44,197.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 42,600 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้กู้และไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 43,860.49บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 42,600 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนโดยนำใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเป็นหลักในการฟังข้อเท็จจริง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 42,600 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 โดยมอบโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน การกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าในการสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความ จำเลยทั้งสามอ้างส่งใบรับเงินเอกสารหมาย ล.3ประกอบการถามด้าน ต่อมาในการสืบพยานโจทก์วันที่ 20 กุมภาพันธ์2533 โจทก์ยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยาน (ใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5)เพิ่มเติมโดยอ้างว่าโจทก์ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ได้นำใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งอ้างว่าเป็นคู่ฉบับของใบรับเงินเอกสารหมาย ล.3 มาอ้างส่งในการสืบพยานวันนั้นจำเลยทั้งสามคัดค้านว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยทั้งสามก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ศาลชั้นต้นบันทึกคำคัดค้านของจำเลยทั้งสามไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและศาลล่างทั้งสองรับฟังใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 เห็นว่า โจทก์แถลงในการขอระบุพยาน(เอกสารหมาย จ.5) เพิ่มเติมว่าเป็นเอกสารที่โจทก์ได้ค้นพบ ดังนั้นเหตุที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ก่อนวันสืบพยาน ก็เนื่องจากโจทก์เพิ่งค้นพบเอกสารดังกล่าว และได้ยื่นบัญชีระบุพยานเข้ามาในระหว่างที่ยังสืบพยานโจทก์ไม่เสร็จจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีโอกาสตรวจดูเอกสารดังกล่าวและนำพยานมาสืบหักล้างได้ ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใดการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นว่านั้น จึงมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 จึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share