คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์แห่งคดีที่ได้จากการนำสืบของโจทก์ที่ว่า น. ภริยาของ ป. ผู้ทรงเช็คเดิมพาจำเลยที่ 1 มาพบโจทก์เพื่อขอกู้เงินจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทสองฉบับแลกเงินสดไปจากโจทก์ ซึ่งขัดกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 มอบเช็คให้ผู้มีชื่อมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ อันเป็นข้อพิรุธให้เห็นว่าโจทก์ทราบแล้วว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ ซึ่ง ป. ต้องคืนแก่จำเลยทั้งสอง ประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านที่ว่า โจทก์รู้จักสนิทสนมกับ น. มานาน น.เป็นผู้จัดหาและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทุกคดีในศาลชั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ดังนี้ฟังได้ว่า โจทก์สมคบกับ น. นำเช็คพิพาท 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1ออกให้ ป.เป็นประกันการชำระหนี้ และมูลหนี้ได้ระงับไปแล้วมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยไม่สุจริต เป็นการคบคิดกันฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำเช็คพิพาท 2 ฉบับมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาระยอง จำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้ผู้มีชื่อนำมาแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 214,333.90 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่สุจริตคบคิดกันฉ้อฉลกับนายปริญญา วรรณพฤกษ์ และนางนิรมล แสงมณี ผู้ทรงเช็คเดิม โดยโอนเช็คพิพาทให้โจทก์ฟ้องร้องและโจทก์ทราบก่อนแล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จำเลยที่ 1 กู้เงินจากนายปริญญาและนางนิรมลโดยออกเช็คพิพาทมิได้ลงวันที่ให้ไว้ และมีข้อตกลงห้ามเปลี่ยนมือและห้ามนำไปเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว นายปริญญาและนางนิรมลไม่คืนเช็คพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้ฟ้องนางนิรมลผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน214,333.90 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่านางนิรมล แสงมณี และนายปริญญา วรรณพฤกษ์ เป็นสามีภริยากันและเป็นน้องสาวน้องเขยของจำเลยที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2528จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากนายปริญญาเป็นเงิน 500,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาระยอง ฉบับละ 100,000 บาท จำนวน 6 ฉบับให้นายปริญญาไว้เป็นประกันเงินกู้ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้นายปริญญาบางส่วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 และนายปริญญาเกิดผิดใจกัน นายปริญญาได้นำเช็คดังกล่าวจำนวน 3 ฉบับฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2529 นายปริญญากับจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระแก่นายปริญญา และนายปริญญาตกลงถอนฟ้องทุกคดีตามเอกสารหมาย ล.5 นั้น ในข้อหานี้นางนิรมลภริยานายปริญญาได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เคยกู้ยืมเงินจากนายปริญญาสามีของพยานเป็นเงิน 500,000 บาท ได้ชำระเงินกู้คืนให้นายปริญญาบางส่วนแล้ว ส่วนที่มิได้คืนนายปริญญาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นและมีการทำบันทึกข้อตกลงกัน ซึ่งพยานมิได้รู้เห็นด้วย และในบันทึกข้อตกลงมีการกล่าวถึงการคืนเช็ค แต่จะรวมถึงเช็คพิพาท 2 ฉบับหรือไม่ พยานไม่ทราบ ดังนี้คำเบิกความของนางนิรมลดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยทั้งสองนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เคยกู้ยืมเงินนายปริญญาไป 500,000 บาท โดยออกเช็คให้นายปริญญาจำนวนหนึ่งเป็นประกันหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้บางส่วนแก่นายปริญญาแล้ว ต่อมานายปริญญาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเกี่ยวกับเช็ค 3 ฉบับ และมีการทำบันทึกข้อตกลงกัน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะใช้หนี้เงินกู้ที่ยังค้างชำระด้วยเงินสดจำนวนหนึ่ง และเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 3 ฉบับ โดยเช็คฉบับที่ 3ถึงกำหนดชำระ วันที่ 17 กรกฎาคม 2529 ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.5 ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้จำนวน 500,000บาท แก่นายปริญญาครบถ้วนแล้วหรือไม่ และเช็คพิพาท 2 ฉบับ เป็นส่วนหนึ่งของเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเป็นประกันหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวแก่นายปริญญาหรือไม่ นางนิรมลเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1231/2529 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ตามเอกสารหมาย ป.ล.2 ของศาลแพ่งว่าหนี้สินระหว่างจำเลยกับนายปริญญาขณะนี้หมดแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้จำนวน 500,000 บาท แก่นายปริญญาตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.5 ครบถ้วนแล้ว ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย ล.5 มีข้อความว่า “ข้อ 2 ข้าพเจ้านายปริญญา วรรณพฤกษ์ (ต่อมาเป็นข้อความที่ขีดฆ่าออก) ให้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2529” และเพิ่มเติมข้อความต่อท้ายว่า “ถ้าหาพบและมีอยู่ที่ข้าพเจ้า” แต่ข้อความที่ขีดฆ่าออกนั้นพอจะอ่านได้ความว่า “จะคืนเช็คจำนวน 6 ฉบับ(6822075-6822080)” ดังนั้นข้อความในข้อ 2 ดังกล่าวจึงอ่านได้ความว่า “ข้าพเจ้านายปริญญา วรรณพฤกษ์ จะคืนเช็คจำนวน 6 ฉบับ(6822075-6822080) ให้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2529 (ถ้าหาพบและมีอยู่ที่ข้าพเจ้า) เช็คพิพาท 2 ฉบับตามฟ้องโจทก์คือเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาระยอง เลขที่ 6822079 และเลขที่ 6822080จึงเป็นส่วนหนึ่งของเช็คที่นายปริญญาตกลงจะคืนแก่จำเลยที่ 1เมื่อได้รับชำระหนี้ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.5 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 เบิกความว่า นายปริญญาบอกว่าเช็คที่จะคืนให้จำเลยที่ 1 หายไป 3 ฉบับ รวมทั้งเช็คพิพาท 2 ฉบับด้วย จำเลยที่ 1จึงได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระยองเป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2529 โดยระบุเลขที่เช็คไว้ด้วยว่าเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้กับนายปริญญา ตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารหมาย ล.6 พยานหลักฐานของจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.5 ล.6ประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงฟังข้อเท็จจริงได้ต่อไปว่าเช็คพิพาท 2 ฉบับ เป็นส่วนหนึ่งของเช็คจำนวน 6 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้นายปริญญาเป็นประกันหนี้เงินกู้ จำนวน 500,000 บาทและจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าว แก่นายปริญญาไปแล้ว นายปริญญาไม่คืนเช็คพิพาท 2 ฉบับ แก่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเช็คหายไป จำเลยที่ 1 จึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่มีมูลหนี้ แต่เช็คพิพาทสองฉบับเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ โจทก์ผู้ทรงเช็คได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายให้รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ จึงมีข้อต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทไว้โดยไม่สุจริต คบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า นางนิรมลติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์และได้พาจำเลยที่ 1 นำเช็คพิพาท 2 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 กับนางนิรมลลงลายมือชื่อสลักหลังมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ 200,000 บาท โจทก์มอบเงินให้นางนิรมลแล้วนางนิรมลได้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 โดยมีนางนิรมลเบิกความสนับสนุน และโจทก์เบิกความว่า นางนิรมลและนายปริญญามีฐานะทางการเงินดี นางนิรมลก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เคยให้จำเลยที่ 1 กู้เงินไป 500,000 บาท ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่นางนิรมลจะต้องพาจำเลยที่ 1 ไปขอกู้ยืมเงินโจทก์โดยให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้โจทก์ และนางนิรมลลงลายมือชื่อสลักหลังคำเบิกความของนางนิรมลในฐานะพยานโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นคดีอาญาตามเอกสารหมาย ป.ล.2 ของศาลแพ่งแสดงว่านางนิรมลทราบข้อตกลงชำระหนี้และการคืนเช็คระหว่างนายปริญญากับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นอย่างดีที่โจทก์นำสืบว่า นางนิรมลพาจำเลยที่ 1 มาพบโจทก์เพื่อขอกู้ยืมเงินจำนวน 200,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทสองฉบับแลกเงินสดไปจากโจทก์ก็ขัดกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยมอบเช็คให้ผู้มีชื่อนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ จึงเป็นพิรุธ และน่าเชื่อว่าโจทก์ทราบแล้วว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ซึ่งนายปริญญาจะต้องคืนแก่จำเลยทั้งสอง ประกอบกับได้ความว่าคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์รู้จักนางนิรมลมานาน 10 ปีแล้ว มีความสนิทสนมกันมาก คดีในศาลชั้นต้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ นางนิรมลเป็นผู้จัดหาทนายความให้และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า โจทก์ได้สมคบกับนางนิรมลภริยานายปริญญาผู้ทรงเช็คเดิมนำเช็คพิพาท 2 ฉบับซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้นายปริญญาเป็นประกันการชำระหนี้และมูลหนี้ได้ระงับไปแล้วมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยไม่สุจริตเป็นการคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share