คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญานายหน้าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการตกลงกันระหว่างบุคคลที่ประสงค์จะทำสัญญากับบุคคลที่จะทำหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญาที่เรียกว่านายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา845และมาตรา846โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยพ. น้องจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอให้โจทก์ช่วยเสนอขายที่ดินของจำเลยโดยโจทก์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและราคาจากพ. โดยพ. ตกลงกับโจทก์ว่าค่านายหน้าที่จำเลยจะให้ในอัตราร้อยละ3ของราคาซื้อขายที่ดินนั้นพ. จะแบ่งให้โจทก์ร้อยละ2ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยกับจ. โจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจ.เป็นคนรับเงินค่านายหน้าไว้แทนโจทก์200,000บาทและบอกว่าส่วนที่เหลือให้โจทก์ติดต่อพ. แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้ตกลงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้จ. มาซื้อที่ดินจำเลยการที่โจทก์ตกลงร่วมกับพ. ทำหน้าที่ติดต่อชี้ช่องให้จ. เข้าทำสัญญากับจำเลยแล้วได้ส่วนแบ่งค่านายหน้าจากพ. จึงเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับพ. เท่านั้นโจทก์ย่อมไม่ใช่นายหน้าของจำเลยเพราะเหตุไม่มีนิติสัมพันธ์ข้อตกลงต่อกันโจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับเรียกเอาค่านายหน้าจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่านายหน้าจำนวน 108,600 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรู้จักหรือมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่เคยค้างชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 108,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำเลยได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2165ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบนจังหวัดสมุทรสาคร ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีเนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน12 ตารางวา เมื่อปี 2536 จำเลยประกาศขายที่ดินแปลงดังกล่าวโดยตกลงให้ค่านายหน้าแก่บุคคลผู้ซึ่งเป็นนายหน้าชี้ช่องในอัตราร้อยละ 2 ของราคาที่ดินที่ขายได้ ต่อมาจำเลยตกลงขายที่ดินให้นายจรัล ระวีแสงสูรย์ ในราคาไร่ละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน28,280,000 บาท คิดเป็นค่านายหน้า 565,600 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อขายจำเลยได้รับเงินมัดจำจากนายจรัล จำนวน8,000,000 บาท วันที่ 4 มกราคม 2537 จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายจรัลตามสำเนาสารบัญแก้ทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเลขที่ 2165 เอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายจรัลและจำเลยยังค้างชำระค่าบำเหน็จแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า การเป็นนายหน้าไม่จำเป็นต้องเข้าไปติดต่อกับผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองฝ่าย เมื่อนายไพศาลน้องชายจำเลยมาติดต่อขายที่ดินของจำเลยให้แก่ผู้ซื้อโดยผ่านโจทก์และบอกโจทก์ว่าจำเลยจะให้ค่านายหน้าในอัตราร้อยละ 3 โจทก์จึงนำนายจรัลผู้ซื้อไปพบจำเลยที่บ้านนายไพศาลเป็นเหตุให้จำเลยสามารถทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับนายจรัลได้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์และนายไพศาลต่างก็เป็นนายหน้าในการขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845บัญญัติว่า “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดีท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น” และมาตรา 846 บัญญัติว่า “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า” จากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สัญญานายหน้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างบุคคลที่ประสงค์จะทำสัญญากับบุคคลที่จะทำหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญาที่เรียกว่านายหน้า เมื่อได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยนายไพศาลน้องจำเลยเป็นผู้ติดต่อขอให้โจทก์ช่วยเสนอขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2165 ของจำเลย โดยโจทก์ได้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและราคาจากนายไพศาล นายไพศาลตกลงกับโจทก์ว่าค่านายหน้าที่จำเลยจะให้ในอัตราร้อยละ 3 ของราคาซื้อขายที่ดินนั้น นายไพศาลจะแบ่งให้โจทก์ร้อยละ 2 ส่วนนายไพศาลจะเอาไว้ร้อยละ 1โจทก์ไม่เคยตกลงเรื่องค่านายหน้ากับจำเลย ในวันทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้รับเงินค่านายหน้าจากนายไพศาลและในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยกับนายจรัลโจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดิน นายจรัลเป็นคนรับเงินค่านายหน้าไว้แทนโจทก์ 200,000 บาท และบอกว่าส่วนที่เหลือให้โจทก์ติดต่อนายไพศาล จากคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้ตกลงโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้นายจรัลมาซื้อที่ดินจำเลย ทั้งจำเลยก็นำสืบยืนยันว่าจำเลยตกลงให้นายไพศาลเป็นนายหน้าขายที่ดินให้เท่านั้น แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ตกลงร่วมกับนายไพศาลทำหน้าที่ติดต่อชี้ช่องให้นายจรัลเข้าทำสัญญากับจำเลยหรือจัดการให้นายจรัลทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วได้ส่วนแบ่งค่านายหน้าจากนายไพศาลก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายไพศาลเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมกับนายไพศาลทำหน้าที่ชี้ช่องให้จำเลยกับนายจรัลเข้าทำสัญญากันแล้วโจทก์ย่อมไม่ใช่นายหน้าของจำเลยเพราะเหตุไม่มีนิติสัมพันธ์ข้อตกลงต่อกัน แม้หากจะฟังต่อไปได้ว่าโจทก์ได้รับแบ่งค่านายหน้าที่จำเลยจ่ายให้จากนายไพศาลและนายจรัลมาบางส่วน ก็เป็นเพราะเหตุที่มีข้อตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับนายไพศาลและนายจรัลจึงย่อมเรียกร้องกันได้ตามข้อตกลง แต่โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับเรียกเอาค่านายหน้าจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share