แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปยืนพูดจาเพื่อปรับความเข้าใจกับผู้ตายซึ่งมีอาการมึนเมาสุราแต่ไม่สำเร็จและผู้ตายได้ใช้มีดฟันจำเลยก่อนแต่ไม่ถูกซึ่งหากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวออกมาขู่หรือยิงขู่ผู้ตายผู้ตายก็ไม่น่าจะกล้าฟันทำร้ายจำเลยอีกต่อไปการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้ตายที่บริเวณลำคอและช่วงบนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุแม้ยิงเพียงนัดเดียวก็เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาว่าเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371, 32, 83, 91, 92 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบตะกั่วลูกซองของกลาง
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงผู้ตายเพื่อป้องกันตัวโดยมิได้มีเจตนาฆ่า และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษ ข้อหามีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯจำคุก 2 ปี และข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก 17 ปี รวมจำคุก21 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92เป็นจำคุก 28 ปี คำให้การและการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 18 ปี 8 เดือนตะกั่วลูกซองของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2866/2536 จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 จำคุก 8 ปี รวมจำคุกทั้งสามข้อหา 12 ปี เมื่อเพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้วลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ในหมู่บ้านไทยสมุทรตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นายสุรินทร์อินทะเทพ ผู้ตาย และนางเพลินใจ วิภาสกรกิจ ภรรยาผู้ตายแบ่งเช่าห้องในบ้านของ นางอมรศรี ทิพย์เสถียร ในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่อาศัย ผู้ตายและจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันในคืนก่อนวันเกิดเหตุโดยผู้ตายซึ่งเมาสุราว่าจ้างจำเลยจากวินรถจักรยานยนต์ปากทางเข้าหมู่บ้านดังกล่าวกลับบ้าน จำเลยปฏิเสธผู้ตายขอเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยเอง จำเลยไม่ยอม ผู้ตายผลักรถจักรยานยนต์ของจำเลยล้มและทำร้ายจำเลย จึงเกิดการต่อสู้กันจำเลยไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมยามบางแก้วในคืนนั้น วันเกิดเหตุผู้ตายออกมายืนรอที่หน้าบ้านของตนเองตั้งแต่เช้า ผู้ตายเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาเมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานซึ่งจำเลยพกติดตัวมาตามถนน ทางสาธารณะ หมู่บ้านดังกล่าวยิงผู้ตาย 1 นัดโดยจำเลยมีเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกผู้ตายที่บริเวณลำคอและช่วงบนทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายปรากฎตามรายงานการตรวจศพและรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่อย่างใดคดีจึงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้นมิใช่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยและผู้ตายสมัครใจเข้าร่วมต่อสู้กัน แต่ผู้ตายเป็นฝ่ายลงมือใช้อาวุธมีดฟันเพื่อทำร้าย จำเลยก่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเพื่อป้องกัน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้นเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันในปัญหาข้อนี้ จำเลยให้การต่อสู้มาโดยตลอดในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความเป็นพยานว่าขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาหน้าปากซอย พบผู้ตายซึ่งมีเรื่องกับจำเลยคืนก่อนวันเกิดเหตุออกมาขวางถนนแล้วผู้ตายใช้อาวุธมีดยาวประมาณ1 ศอก ฟันจำเลยจำเลยหลบทัน ผู้ตายฟันครั้งที่ 2 ก็ไม่ถูก พอเงื้อจะฟันครั้งที่ 3 จำเลยชักอาวุธปืนที่พกติดตัวไว้ออกมายิงผู้ตาย 1 นัดแล้วขับรถจักรยานยนต์หนีไป ส่วนโจทก์ไม่มีพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายดังกล่าวมาเบิกความเป็นประจักษ์พยานแต่อย่างใด เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ตายมีอาวุธมีดและได้ใช้มีดเป็นอาวุธฟันเพื่อทำร้ายจำเลยก่อนก็ตาม แต่ได้ความจากบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1ว่าขณะเกิดเหตุเมื่อจำเลยพบผู้ตาย จำเลยกับผู้ตายได้คุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน แต่ผู้ตายได้ชักอาวุธมีดจะทำร้ายจำเลยก่อนจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด แล้วหลบหนี ตรงกับเหตุการณ์ในภาพถ่ายการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพหมาย จ.20ภาพที่ 1 และภาพที่ 2 ซึ่งปรากฎว่าขณะเกิดเหตุก่อนที่จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์และยืนพูดจาปรับความเข้าใจกับผู้ตาย ดังนี้เชื่อว่าก่อนที่ผู้ตายจะใช้มีดฟันจำเลยนั้น จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์ไปยืนพูดจาเพื่อปรับความเข้าใจกับผู้ตาย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จและผู้ตายได้ใช้มีดฟันจำเลยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้ตายใช้มีดฟันทำร้ายจำเลยแต่ไม่ถูก ประกอบกับได้ความว่าผู้ตายมีอาการมึนเมาสุราอยู่ด้วย หากจำเลยเพียงแต่ใช้อาวุธปืนดังกล่าวออกมาขู่หรือยิงขู่ผู้ตาย ผู้ตายก็ไม่น่าจะกล้าฟันทำร้ายจำเลยอีกต่อไปการที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้ตายถูกผู้ตายที่บริเวณอวัยวะสำคัญคือที่บริเวณลำคอและช่วงบนดังปรากฎตามรายงานการตรวจศพและรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 อันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุนั้น แม้จำเลยยิงเพียงนัดเดียวก็เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษให้นั้น เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยเป็นฝ่ายใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายจำเลยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำเลยข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 8 ปี นั้น หนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เบาลง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับคำขอของโจทก์ที่ให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น เห็นว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ปรากฎว่าจำเลยซึ่งเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 1 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1744/2533 ของศาลชั้นต้น ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกและพ้นโทษมาก่อนกระทำความผิดในคดีนี้นั้น เมื่อปรากฎว่าได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าวและได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้ด้วย ซึ่งแม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 5 ปีรวมจำคุกทั้งสามข้อหา 9 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 ปี คำขอให้เพิ่มโทษให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2