คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5690/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คชก.จังหวัดพิจิตรมีคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดให้โจทก์เช่าทำนาในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อไปตามเดิมและให้จำเลยขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในราคา150,000บาทภายใน60วันนับแต่วันที่คชก.จังหวัดพิจิตรมีคำวินิจฉัยดังนี้เมื่อจำเลยไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดพิจิตรโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ย่อมฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดพิจิตรได้ตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินการเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา58วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้เช่าที่ดินของนางสำราญ กำแหงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.)เลขที่ 369 และ 374 ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรเพื่อทำนา ต่อมานางสำราญขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา150,000 บาท โดยไม่แจ้งให้โจทก์และคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลห้วยเกตุ (คชก. ตำบลห้วยเกตุ) ทราบโจทก์จึงยื่นคำร้องต่อ คชก. ตำบลห้วยเกตุเพื่อให้พิจารณาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทตามเดิมและให้จำเลยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในราคา150,000 บาท คชก. ตำบลห้วยเกตุ มีมติให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทตามเดิมและให้จำเลยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 150,000 บาทจำเลยอุทธรณ์ คชก.จังหวัดพิจิตรมีมติยืนตามมติของ คชก.ตำบลห้วยเกตุจำเลยมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดพิจิตรมติดังกล่าวจึงถึงที่สุดแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ปฎิบัติตามมติดังกล่าวและได้นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้ต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในราคา 150,000 บาท โดยการชำระราคาที่ดิน โจทก์ขอชำระให้แก่ผู้รับจำนองแทนหรือหากกฎหมายไม่เปิดช่อง โจทก์ก็ขอชำระแก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอน หากจำเลยไม่ปฎิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่อาจจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้โจทก์ได้ ขอให้จำเลยหรือผู้รับจำนองส่งมอบ น.ส.3 ก. ดังกล่าวต่อศาล แล้วให้โจทก์รับ น.ส.3 ก. ไปโอนเองและให้เอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลย ขาดนัด ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 369ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน6 ตารางวา และเลขที่ 374 ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหินจังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ให้แก่โจทก์ในราคา150,000 บาท หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนขายให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์ซื้อคืนภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน จำเลย ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตรก็เท่ากับจำเลยโต้แย้งคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตรโดยตรง การโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 58 วรรคสองบัญญัติให้เป็นอำนาจของ คชก. จังหวัดพิจิตรโดยเฉพาะที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยให้ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตรกฎหมายมิได้ให้อำนาจโจทก์ที่จะเป็นผู้ยื่นฟ้องจำเลยเองนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตรที่ถึงที่สุดคือไม่ยอมให้โจทก์เช่าทำนาในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อไปตามเดิม และไม่ยอมขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในราคา 150,000 บาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คชก.จังหวัดพิจิตรมีคำวินิจฉัย การที่จำเลยไม่ยอมปฎิบัติตามคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดของ คชก.จังหวัดพิจิตร ทั้งสองกรณีนี้พระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดได้อยู่แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ย่อมฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัดพิจิตรได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้” พิพากษายืน

Share