แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ42.8เท่ากับว่าเจ้าหนี้มีส่วนได้เสียอย่างมากการที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเมื่อลูกหนี้ประสบปัญหาในสภาวะที่กิจการขาดทุนจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสดำเนินธุรกิจไปตามปกติในทางการค้าซึ่งอาจจะมีกำไรได้ในภายหลังเมื่อไม่ปรากฏว่าในขณะที่เจ้าหนี้ให้กู้ยืมนั้นลูกหนี้มีหนี้สินกับเจ้าหนี้อื่นใดมาก่อนอีกทั้งการกู้ยืมตลอดจนการออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่เจ้าหนี้ได้กระทำขึ้นก่อนที่ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย5ถึง6ปีและในขณะนั้นไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้รายใดฟ้องลูกหนี้จึงยังไม่พอฟังว่าในขณะนั้นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2536 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับ>ชำระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ตามคำพิพากษาจำนวน 10,526,204.86 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
ผู้คัดค้านนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
ผู้คัดค้านสอบสวนแล้ว เห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2)เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เสีย ทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน10,315,865.66 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้าน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางสอบสวนของผู้คัดค้านข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้ประกอบธุรกิจเลี้ยงกุ้งก้ามกามจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อปี 2524 มีนายศิริชัย บุลกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนได้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้ถือหุ้นของลูกหนี้ร้อยละ 42.8 ต่อมากิจการของลูกหนี้ประสบภาวะขาดทุนประมาณปี 2526 ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินเจ้าหนี้ไปจ่ายเป็นค่าจ้างของพนักงานและซื้อวัตถุดิบใช้ในกิจการของลูกหนี้โดยมีการนำรายการกู้ยืมลงในสมุดบัญชีระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้รวมจำนวนที่กู้ยืมเงิน 5,704,629.80 บาท ลูกหนี้จึงได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 1 มกราคม 2530 มอบให้เจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับเป็นเงิน 5,212,338.38 บาท และ 492,291.42 บาท โดยลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินตามตั๋ว 2 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้เมื่อทวงถามพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปีดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ต่อมาเจ้าหนี้ได้เปลี่ยนกรรมการชุดใหม่หลายครั้งโดยนายศิริชัยไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2530 เจ้าหนี้จึงได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว แต่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นเงิน 5,704,629.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามคดีหมายเลขแดงที่ 16914/2535ของศาลชั้นต้น ต่อมาเจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้และยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยเจ้าหนี้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า ลูกหนี้เป็นบริษัทในเครือของเจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ 42.8 เท่ากับว่าเจ้าหนี้มีส่วนได้เสียอย่างมาก การที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงิน เมื่อลูกหนี้ประสบปัญหาในสภาวะที่กิจการขาดทุน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสดำเนินธุรกิจไปตามปกติในทางการค้าซึ่งอาจจะมีกำไรได้ในภายหลัง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าในขณะที่เจ้าหนี้ให้กู้ยืมนั้นลูกหนี้มีหนี้สินกับเจ้าหนี้อื่นใดมาก่อน อีกทั้งยังได้ความว่าการกู้ยืมตลอดจนการออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่เจ้าหนี้ได้กระทำขึ้นก่อนปี 2530 ทั้งสิ้น ซึ่งเกิดก่อนที่ลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย 5ถึง 6 ปี และในขณะนั้นไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้รายใดฟ้องลูกหนี้จึงยังไม่พอฟังว่าในขณะนั้นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่ามีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้อีก 2 รายนั้น ปรากฏว่าแต่ละรายยื่นขอรับชำระหนี้ไว้ประมาณ 20,000 บาทและ 30,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้เพียงเล็กน้อย สำหรับข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้ต่างมีนายศิริชัยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการด้วยกัน ย่อมจะต้องทราบสถานะทางการเงินของลูกหนี้นั้นเห็นว่า เจ้าหนี้กับลูกหนี้ต่างมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อกระทำการแทน นอกจากนายศิริชัยแล้วก็ยังมีกรรมการอื่น ๆ ที่มีอำนาจกระทำการแทนได้ด้วยผู้คัดค้านก็ยอมรับว่านายศิริชัยได้ลาออกจากกรรมการของเจ้าหนี้เมื่อปี 2530 การฟ้องคดีแพ่งและคดีล้มละลายคดีนี้นายศิริชัยก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ฉะนั้น ที่อ้างว่าเจ้าหนี้ต้องรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นน่าจะเป็นการสันนิษฐานลอย ๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน