แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่2กับพวกคงมีแต่สำเนานส.3กที่ถ่ายมาจากที่ทางราชการเก็บรักษาไว้เท่านั้นโดยยังมิได้มีการรวบรวมซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อนำมาขายให้โจทก์ร่วมดังนั้นแม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุข้อความในอนาคตว่าจำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายภายใน1ถึง3เดือนนับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบแต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่าขณะทำสัญญาจำเลยกับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วมเป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วยเมื่อข้อความดังกล่าวเป็นเท็จโดยความจริงจำเลยกับพวกมิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วมโจทก์ร่วมหลงเชื่อจำเลยกับพวกในการแสดงข้อความเท็จและจ่ายเงินมัดจำให้ไปการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341 จำเลยที่1รู้จักกับโจทก์ร่วมมาก่อนเป็นผู้ติดต่อพาโจทก์ร่วมไปดูที่ดินจนโจทก์ร่วมตกลงทำสัญญาวางมัดจำและทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทประกอบกับขณะจะทำสัญญาซื้อขายจำเลยที่1ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมดูสัญญาซื้อขายที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองอวดอ้างว่าได้ทำไว้กับชาวบ้านแล้วแสดงว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาทุจริตหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์ร่วมโดยแบ่งหน้าที่กันทำจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน สมคบกันหลอกลวง นางสุนารี สันติธรารักษ์ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยยืนยันต่อผู้เสียหายว่า จำเลยทั้งสองกับพวกเป็นผู้มีสิทธิขายและจะขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 8,000 ไร่ ให้แก่ผู้เสียหายในราคาไร่ละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 64,000,000 บาททำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 และพวก พร้อมทั้งมอบเงินมัดจำจำนวน 5,000,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 และพวกไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน5,000,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย และสั่งคืนของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้คืนของกลางแก่โจทก์ร่วมคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 เป็นผู้แนะนำให้โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และนายวิมพ์ ศรีสวัสดิ์กุล ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินระวางเลขที่ 92 ถึง 96 และระวางเลขที่ 106 ถึง 110ตำบลบ้านกระเบื้อง ตำบลขุย ตำบลเมืองยาง ตำบลกระเบื้องนอกอำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 8,000 ไร่ ราคาไร่ละ 8,000 บาท เป็นเงิน 64,000,000 บาท เงินมัดจำ15,000,000 บาท โดยแบ่งชำระ 2 งวดงวดแรกชำระในวันทำสัญญาจะซื้อขาย 5,000,000 บาท งวดที่ 2 ชำระในวันที่ 24 พฤษภาคม 2533เป็นเงิน 10,000,000 บาท ส่วนที่ดินที่ซื้อขายผู้จะขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระวางหมายเลขที่ 106 แปลงที่ 1 และที่ 2 ให้แก่ผู้ซื้อภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วางเงินมัดจำครบถ้วน ส่วนที่ดินที่เหลือผู้จะขายจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ผู้จะซื้อชำระเงินมัดจำครบถ้วน ปรากฏรายละเอียดตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ดีด เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 ก่อนถึงกำหนดชำระมัดจำงวดที่ 2นายวิมพ์ ได้ยินยอมให้โจทก์ร่วมเลื่อนกำหนดวันวางมัดจำงวดที่ 2จากวันที่ 24 พฤษภาคม 2533 ไปเป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 ดังปรากฏด้วยลายมือเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินของนายวิมพ์ตามเอกสารดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่นำเงินค่ามัดจำไปชำระในวันที่24 พฤษภาคม 2533 และจำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท เอกสารหมาย จ.4 เพราะถือว่าโจทก์ร่วมผิดนัด ผิดสัญญาปัญหาตามที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องเพราะจำเลยทั้งสองกับพวกได้หลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วมแต่ความจริงจำเลยที่ 2 กับพวกไม่มีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อเข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 และพวกโจทก์ร่วมได้ชำระเงินมัดจำให้จำเลยทั้งสองกับพวกไปเป็นเงิน5,000,000 บาท อันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือไม่นั้น ปัญหาดังกล่าวฝ่ายโจทก์กับโจทก์ร่วมและฝ่ายจำเลยทั้งสองต่างนำราษฎรซึ่งมีที่ดินอยู่ภายในอาณาเขตของสำเนาระวางรูปถ่ายทางอากาศตามเอกสารหมายจ.5 มานำสืบสนับสนุนตามคำเบิกความของฝ่ายตน ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ได้ว่าก่อนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 หรือแม้กระทั่งก่อนจำเลยที่ 2บอกเลิกสัญญากับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 กับพวกได้รวบรวมซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อจะนำมาขายให้โจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 กับพวกคงมีแต่สำเนา น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 ที่ถ่ายมาจากที่ทางราชการเก็บรักษาไว้เท่านั้น ดังนั้นแม้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 จะมีระบุข้อความในอนาคตว่าจำเลยที่ 2และนายวิมพ์จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายภายใน 1 ถึง 3 เดือนนับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบ 15,000,000 บาท แต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่า ขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 และนายวิมพ์มีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วม เป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังที่ได้วินิจฉัยมา การกระทำของจำเลยที่ 2 และนายวิมพ์จึงเป็นเท็จความจริงจำเลยที่ 2 และนายวิมพ์มิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อจำเลยที่ 2 ในการแสดงข้อความเท็จสั่งจ่ายเงินมัดจำจำนวน 5,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองกับพวกไป แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะไม่วางมัดจำงวดที่ 2 แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กับพวกหาทางบ่ายเบี่ยงเพื่อจะไม่ต้องโอนที่ดินให้แก่โจทก์ร่วมมากกว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ความว่า ขณะโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และนายวิมพ์จะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมายจ.4 โจทก์ร่วมขอดูหนังสือสัญญาซื้อขายที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองอวดอ้างว่าได้ทำไว้กับชาวบ้านแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ดู ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นคนพาโจทก์ร่วมไปดูที่ดิน ต่อมาได้ทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นเหตุให้เกิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาทุจริตหลอกลวงขายที่ดินให้โจทก์ร่วมโดยแบ่งหน้าที่กันทำโดยอาศัยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนที่โจทก์ร่วมรู้จักมาก่อนเป็นผู้ไปติดต่อโจทก์ร่วมให้ไปดูที่ดินและร่วมทำสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้ จนทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อทำสัญญาและมอบเงินตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองกับพวกไป คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ให้คืนของกลางแก่โจทก์ร่วมคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก