คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2468/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มีผู้นำเรือทำการประมงเข้าไปในเขตน่านน้ำประเทศสหภาพพม่าจึงถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสหภาพพม่าจับกุมและยึดไว้โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อเรือจากเจ้าหน้าที่ของประเทศสหภาพพม่าแล้วมาทำสัญญาขายต่อให้แก่จำเลยดังนั้นการที่โจทก์ซื้อเรือจากประเทศสหภาพพม่าจึงเป็นเพียงการซื้อสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้นำเรือกลับประเทศไทยได้เท่านั้นการที่โจทก์ขายสิทธิดังกล่าวให้แก่จำเลยจึงเป็นการขายสิทธิจะได้รับเรือคืนจากประเทศสหภาพพม่า มิใช่การซื้อขายเรือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคแรกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีผลบังคับได้และไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาสมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2532 จำนวนเงิน1,600,000 บาท มีจำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียง 600,000 บาทแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,068,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เช็คพิพาทซึ่งจำเลยสั่งจ่ายนั้นมีมูลหนี้มาจากการซื้อขายเรือประมง 2 ลำ การซื้อขายเรือประมงดังกล่าวซึ่งมีระวางเกิน 5 ตัน มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,068,750 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า เรือเดชสถาพรและเรือ ก.เดชวัฒนา เป็นเรือยนต์ที่ได้จดทะเบียนเรือไว้ที่กองทะเบียนเรือ กรมเจ้าท่า มีระวางเกินกว่า 5 ตันขึ้นไป เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุรชัย สมบูรณ์สินและนายโกวิทย์ อันนวัฒน์ ตามลำดับ ต่อมาเรือทั้งสองลำดังกล่าวได้ทำการประมงละเมิดน่านน้ำประเทศสหภาพพม่า จึงถูกเจ้าหน้าที่ประเทศสหภาพพม่าจับและยึดไป โจทก์เป็นผู้ซื้อเรือทั้งสองลำจากประเทศสหภาพพม่า ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2532จำเลยได้ทำสัญญาซื้อเรือทั้งสองลำจากโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.6ในราคา 3,200,000 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาสมุทรปราการ ชำระค่าเรือให้โจทก์ 2 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 1,600,000 บาท ฉบับแรก ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2532 ซึ่งโจทก์ได้รับเงินตามเช็คแล้ว ส่วนฉบับที่ 2 คือ เช็คพิพาทลงวันที่26 มิถุนายน 2532 โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คให้โจทก์อีก 600,000 บาท คงค้างชำระเงินตามเช็คอีก 1,000,000 บาทโจทก์จึงฟ้องให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการซื้อขายเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป และเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์นั้น จึงมีปัญหาว่าสัญญาซื้อขายเรือตามเอกสารหมาย ล.6 มีผลบังคับได้หรือไม่เพียงใด ได้ความตามเอกสารหมาย ล.6 ว่า เรือเดชสถาพรและเรือก.เดชวัฒนามีชื่อนายสุรชัยและนายโกวิทย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามลำดับแต่เรือทั้งสองลำดังกล่าวได้ทำการประมงเข้าไปในเขตน่านน้ำประเทศสหภาพพม่า จึงถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสหภาพพม่าจับกุมและยึดเรือไว้ โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อเรือดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ของประเทศสหภาพพม่าแล้วมาทำสัญญาขายต่อให้แก่จำเลยซึ่งข้อเท็จจริงนี้จำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเรือทั้งสองลำดังกล่าวไม่สามารถที่จะทำการโอนกรรมสิทธิ์เรือทั้งสองลำให้แก่จำเลยได้ จึงได้มีข้อความตามเอกสารหมาย ล.6ข้อ 5 ว่า ค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตใช้เรือ ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอนเรือและค่าภาษีการโอนหากมีระหว่างเจ้าของเรือเดิมกับผู้ซื้อ ผู้ซื้อเป็นผู้เสียฝ่ายเดียว และมีข้อความตามเอกสารหมายล.6 ข้อ 6 อีกว่า เรือ ก.เดชวัฒนาเดิมเป็นของพี่เขยผู้ซื้อและเรือเดชสถาพรเป็นของเพื่อนผู้ซื้อไว้ จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญากันนั้นทั้งสองฝ่ายต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศสหภาพพม่าหรือรัฐบาลสหภาพพม่าก็ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เรือทั้งสองลำนั้น แต่รัฐบาลสหภาพพม่ามีสิทธิยึดเรือไว้เพราะทำผิดกฎหมายของประเทศสหภาพพม่า ดังนั้นที่โจทก์ซื้อเรือทั้งสองลำจากประเทศสหภาพพม่าจึงเป็นเพียงการซื้อสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้นำเรือกลับประเทศไทยได้เท่านั้น ดังนั้นที่โจทก์ขายสิทธิดังกล่าวให้แก่จำเลยจึงเป็นการขายสิทธิจะได้รับเรือคืนจากประเทศสหภาพพม่า มิใช่การซื้อขายเรือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย ล.6 จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีผลบังคับได้และไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระค่าซื้อสิทธินำเรือกลับประเทศไทยจากโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ดังฟ้อง”
พิพากษายืน

Share