คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างเป็นกรณีมิใช่ความผิดอันยอมความได้ซึ่งลูกจ้างซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเองเมื่อปรากฎว่าเจ้าหน้าที่แรงงานผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ร้องทุกข์ไว้แล้วพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายต่างกรรมต่างวาระดังนี้
ก. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2536 เวลากลางวัน จำเลยเป็นนายจ้างได้ว่าจ้างแรงงานนางสาวนงคราญ สุวรรณแดงผู้เสียหายที่ 1 ให้เป็นลูกจ้างของจำเลย ทำหน้าที่ทำอิฐในโรงงานทำอิฐของจำเลย จำเลยตกลงจะจ่ายค่าจ้างวันละ 60 บาททุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ครั้นถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งทำงานให้จำเลยตลอดมา
ข. เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2536เวลากลางวัน จำเลยจ้างแรงงานนายอนัน หนูดี ผู้เสียหายที่ 2นายฉันท์ ทองสิงห์ ผู้เสียหายที่ 3 นายสมอ นนทวงษ์ผู้เสียหายที่ 4 และบุคคลอื่น ๆ อีก 24 คน ให้ทำหน้าที่ในโรงงานทำอิฐของจำเลย ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน ครั้นถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ผู้เสียหายกับพวกดังกล่าวซึ่งทำงานให้จำเลยตลอดมา
ค. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 นายกริษณุ เสนารัตน์พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ออกคำสั่งให้จำเลยไปพบพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ไปพบเจ้าพนักงานอันเป็นการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันควร
ง. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536 เวลากลางวัน นายวิชิต แสนเมือง พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ออกคำสั่งให้จำเลยไปพบพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ไปพบเจ้าพนักงานอันเป็นการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันควร
จ. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2536 เวลากลางวัน นายวิชิต แสนเมือง พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ออกคำสั่งให้จำเลยไปพบพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ไปพบเจ้าพนักงานอันเป็นการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 2, 5, 8 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 28, 29 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, 91
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างตามฟ้องข้อ ก. โจทก์ไม่มีผู้เสียหายมาเบิกความ ความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามฟ้อง ข้อ ค. ง. จ. จำเลยยังไม่ได้รับทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้จำเลยไปพบตามนัดจำเลยคงมีความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างตามฟ้องข้อ ข. กระทงเดียว พิพากษาว่าจำเลยจำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2ข้อ 8 ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอุทธรณ์ของโจทก์มีอัยการพิเศษประจำเขต 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 และข้อ 8 ให้จำคุก2 เดือน โดยไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างผู้เสียหายคือลูกจ้างไม่ได้ร้องทุกข์นั้น เห็นว่ากรณีมิใช่ความผิดอันยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ด้วยตนเอง ปรากฎว่านายกริษณุ เสนารัตน์ เจ้าหน้าที่แรงงานผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ร้องทุกข์ไว้แล้วตามคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.11 พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share