คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยการที่จำเลยฎีกาโดยคัดลอกเอาข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาโดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไรที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ20,000บาทแทนโจทก์เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดน่าจะเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา143จึงให้แก้ไขค่าทนายความในศาลชั้นต้นเป็น3,000บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมด ถ้าไม่รื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามมาตรา 40, 41, 46 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า อาคารพิพาทเดิมมี 2 ชั้น แต่เพียงด้านหน้าส่วนด้านหลังต่อเติมเป็นอาคารเกิน 2 ชั้น จำเลยเพียงแต่ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยของจำเลยกับบริวาร และปฎิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจำนองของจำเลยและผู้ขายเท่านั้น จำเลยยื่นขออนุญาตปลูกสร้างต่อเติมอาคารต่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ปฎิบัติการล่าช้าเมื่อจำเลยรื้อถอนส่วนชำรุดและก่อสร้างไปก่อน เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงไม่ออกใบอนุญาตให้ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขัดต่อความสงบเรียบร้อยและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทำให้เจ้าของที่ดินเสียสิทธิในการใช้ที่ดิน และข้อบัญญัติที่บังคับให้ถอยร่นการปลูกสร้างไม่ควรใช้บังคับแก่ผู้ที่ซ่อมแซมต่อเติมอาคาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต บนอาคารเลขที่ 116/2-3 แขวงคลองมหานาคเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ถ้าไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฎว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า (1) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ (2) จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างต่อเติมอาคารเพราะความผิดของเจ้าหน้าที่ของโจทก์หรือไม่ และจำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะเหตุดังกล่าวได้หรือไม่ (3) การก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในอาคารและอาคารข้างเคียงหรือไม่ แล้ววินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนดไว้ดังกล่าว ส่วนศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยรวมทั้งหมด 10 ครั้งเป็นการให้โอกาสจำเลยอย่างมาก และปรากฎว่าในจำนวนวันนัด 10 ครั้งนี้จำเลยนำพยานมาสืบเพียง 2 ปากเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้เอาใจใส่ที่จะนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบเพื่อจะสู้คดี เมื่อจำเลยไม่มาศาลตามวันและเวลาที่นัดไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลยที่เหลืออีกต่อไป คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้วและวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยก่อสร้างดัดแปลงอาคารพิพาทโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ อาคารพิพาทก่อสร้างผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นอ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยการที่จำเลยฎีกาโดยคัดลอกเอาข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาโดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความ 20,000 บาท แทนโจทก์ เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดน่าจะเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 จึงให้แก้ไขค่าทนายความในศาลชั้นต้นเป็น3,000 บาท

Share