คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิใช่บิดาเด็กหญิงม. โดยเด็กหญิงม. เป็นบุตรติดป. มาแล้วป. อยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยฉะนั้นอำนาจปกครองเด็กหญิงม. จึงตกอยู่แก่ป. มารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1568หาใช่อยู่ในความปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงไม่และคำว่า”ผู้อยู่ในความปกครอง”ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา285หมายถึงความปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้มิใช่เป็นความปกครองโดยพฤตินัยจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงม.จึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา285

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงมลฤดี กอวงษ์ผู้เสียหายอายุ 11 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยและเป็นผู้อยู่ในความปกครองของจำเลยโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำและกดทับร่างผู้เสียหายจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยได้ข่มขืนผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 285 ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุ เด็กหญิงมลฤดี กอวงษ์ ผู้เสียหายมีอายุประมาณ11 ปี 9 เดือน ตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.3 ผู้เสียหายเป็นบุตรนายมนตรี กอวงษ์ กับนางปรีดา กองวงษ์หรือวุฒิวัย ต่อมานายมนตรีกับนางปรีดาจดทะเบียนหย่ากันตามเอกสารหมาย จ.5แล้วนางปรีดาอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย ผู้เสียหายจึงอยู่ในความดูแลของจำเลยกับนางปรีดา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536ผู้เสียหายไปแจ้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันว่าถูกจำเลยบิดาเลี้ยงข่มขืนกระทำชำเรา เชื่อได้ว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตามฟ้อง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าผู้เสียหายไม่ได้ตั้งครรภ์นั้น นายแพทย์บุญเลิศ เตรียมอมรวุฒิ พยานจำเลยก็เบิกความว่ามารดาผู้เสียหายพาผู้เสียหายมาตรวจเพื่อยืนยันว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์หรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ตรวจว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนหรือไม่ ในวันตรวจนั้นยืนยันแต่เพียงว่าผู้เสียหายไม่ได้ตั้งครรภ์ ถ้าหากมีการทำแท้งในขณะที่ครรภ์ยังอายุน้อยจะไม่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ พยานจำเลยที่นำสืบไม่พอรับฟังหักล้างพยานโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยมิใช่บิดาเด็กหญิงมลฤดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่งเด็กหญิงมลฤดีเป็นบุตรติดนางปรีดามาแล้ว นางปรีดาอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลย ฉะนั้น อำนาจปกครองเด็กหญิงมลฤดีจึงตกอยู่แก่นางปรีดามารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1568 หาใช่อยู่ในความปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเลี้ยงไม่และคำว่า “ผู้อยู่ในความปกครอง” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285 ต้องตีความโดยเคร่งครัด ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีกฎหมายบัญญัติถึงความเป็นผู้ปกครองไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายอื่นกล่าวถึงความเป็นผู้ปกครองก็ย่อมหมายถึงความปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากต้องการให้มีความหมายนอกเหนือไปถึงความปกครองโดยพฤตินัยด้วยแล้วก็ย่อมจะมีระบุไว้เป็นพิเศษ ดังนั้นจำเลยจึงหาต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ไม่ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 9 ปี 4 เดือน

Share