คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3649/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

เมื่อบ้านที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้วจำเลยไม่มีสิทธิจะยึดถือครอบครองและจะต้องส่งมอบบ้านแก่โจทก์การที่จำเลยรื้อบ้านดังกล่าวจะเป็นการทำละเมิดด้วยหรือไม่ก็ตามแต่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ราคาบ้านรวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้บ้านซึ่งโจทก์รับซื้อฝากไว้มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะจึงต้องถือว่ามีอายุความฟ้องร้อง10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164หาใช่เป็นเรื่องละเมิดอย่างเดียวและมีอายุความเพียง1ปีไม่ การที่จำเลยเป็นผู้ขอให้เรียกกรมการศาสนาเข้ามาเป็นคู่ความเองและคำฟ้องของกรมการศาสนาก็เป็นเรื่องให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์เช่าจากกรมการศาสนาจึงเป็นเรื่องเดียวกันและเกี่ยวกับฟ้องเดิมเพียงขอเรียกค่าเสียหายมาด้วยเท่านั้นและคดีนี้ก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายซ้ำซ้อนเพราะจำเลยยอมรับมาเองว่ากรมการศาสนาได้รับความเสียหายซึ่งศาลชั้นต้นก็ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่กรมการศาสนาตามนั้นจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายฝากบ้านเลขที่ 126 ในที่ดินซึ่งเช่าจากกรมการศาสนา ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 180,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี 6 เดือน เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ไถ่คืนและรื้อบ้านดังกล่าวก่อนครบกำหนดไถ่คืนแล้วปลูกบ้านขึ้นใหม่ในที่ดินเดิมด้วย ทำให้โจทก์เสียหาย และเมื่อครบกำหนดขายฝาก โจทก์ได้เช่าที่ดินตรงบริเวณที่ปลูกบ้านหลังนั้นจากรมการศาสนาด้วยโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหาผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงได้แจ้งให้จำเลยรื้อและขนย้ายบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ออกไป แต่จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาบ้านกับค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยว่าจำเลยได้ขายฝากบ้านไว้กับโจทก์จริง แต่จำเลยชำระเงินไถ่เอาบ้านคืนภายในกำหนดเวลาและได้รื้อบ้านดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิจะเช่าที่ดินดังกล่าวจากกรมการศาสนา และกรมการศาสนาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ไม่ชอบ ทั้งคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับกรมการศาสนาโดยขอให้กรมการศาสนาเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วยซึ่งศาลชั้นต้นหมายเรียกเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเพราะสัญญาเช่าที่จำเลยทำไว้ครบกำหนดและจำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าต่อทั้งโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากกรมการศาสนาโดยถูกต้อง จำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้ง ขอให้ยกฟ้อง กรมการศาสนาซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยและให้การแก้ฟ้องแย้งโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจริงแต่ทำสัญญาเช่าครั้งละ 1 ปี ซึ่งจำเลยก็ขอเช่าต่อเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2520 เท่านั้นต่อมาโจทก์ได้มาขอเช่าที่ดินพิพาทและยืนยันว่าบ้านที่จำเลยขายฝากไว้ตกเป็นของโจทก์แล้วโดยจำเลยไม่ไถ่คืนและมีหลักฐานการจดทะเบียนขายฝากมาให้ดูด้วย กรมการศาสนาจึงให้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทต่อมาปรากฏว่า จำเลยได้รื้อบ้านที่ขายและปลูกบ้านขึ้นใหม่ในที่ดินนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศาสนาและจำเลยคงอยู่ในที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาซึ่งเป็นการทำละเมิดและทำให้กรมการศาสนาเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยรื้อบ้านออกไปและทำที่ดินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่กรมการศาสนาและยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยให้การแก้ฟ้องแย้งของกรมการศาสนาว่า จำเลยยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ กรมการศาสนาไม่มีสิทธินำไปให้โจทก์เช่า จำเลยปลูกบ้านขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาท กรมการศาสนาก็มิได้ทักท้วงถือว่าให้ความยินยอมอนุญาตโดยปริยายแล้ว กรมการศาสนาจึงฟ้องขับไล่และเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ ต่อมาคู่ความแถลงรับกันว่า ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องเอาจากจำเลยตามฟ้อง ให้คิดค่าบ้านที่ขายฝากเป็นเงิน 20,000 บาท ค่าเสียหายที่จำเลยรื้อบ้านนับจากวันครบกำหนดไถ่คืนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนค่าเสียหายของกรมการศาสนาให้คิดเดือนละ 37.50 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว แล้วคู่ความขอสละประเด็นข้อพิพาทอย่างอื่นโดยประสงค์จะต่อสู้คดีกันเพียง 3 ประเด็น คือ 1. จำเลยได้ไถ่บ้านที่ขายฝากจากโจทก์แล้วหรือไม่ 2. จำเลยมีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทต่อไปหรือไม่3. ฟ้องของโจทก์และของกรมการศาสนากับฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ราคาบ้านแก่โจทก์ 20,000 บาท กับค่าเสียหาย 5,000 บาท รวมทั้งค่าเสียหายอีกเป็นรายเดือนเดือนละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่กรมศาสนาคู่ความฝ่ายที่ 3 เดือนละ 37.50 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำสัญญาขายฝากบ้านเลขที่ 126ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทและเช่าจากกรมการศาสนาโดยกรมการศาสนาก็รู้เห็นยินยอมและมีการจดทะเบียนขายฝากต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และจำเลยได้ให้คำรับรองต่อกรมการศาสนาด้วยว่า หากจำเลยไม่ไถ่เอาบ้านที่ขายฝากคืน ยอมยกสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่ผู้รับซื้อบ้านนั้น ก่อนครบกำหนดเวลาไถ่คืน จำเลยได้รื้อบ้านที่ขายฝากแล้วปลูกสร้างบ้านขึ้นใหม่ในที่ดินพิพาท โดยมิได้รับความยินยอมจากกรมการศาสนาซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสัญญาที่จำเลยทำไว้ แต่บ้านที่ปลูกสร้างใหม่เป็นของจำเลย ส่วนที่ดินพิพาทโจทก์ไปขอเช่าจากกรมการศาสนาแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ไถ่บ้านที่ขายฝากคืน และสัญญาเช่าของจำเลยได้หมดอายุโดยจำเลยไม่ได้ขอต่อสัญญาอีก ทั้งกรมการศาสนาให้โจทก์เช่าที่ดินดังกล่าวตามคำรับรองของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทต่อไป ที่จำเลยโต้แย้งว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ชดใช้ราคาบ้านที่ขายฝากกับค่าเสียหายเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความนั้น เห็นว่า กรณีนี้บ้านที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิจะยึดถือครอบครองและจะต้องส่งมอบแก่โจทก์ การที่จำเลยรื้อบ้านดังกล่าวจะเป็นการทำละเมิดด้วยหรือไม่ก็ต้อง แต่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้ราคาบ้านรวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้บ้านซึ่งโจทก์รับซื้อฝากไว้มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถือว่ามีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่เป็นเรื่องละเมิดอย่างเดียวและมีอายุความเพียง 1 ปีไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า กรมการศาสนาไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นการฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมและจำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่กรมการศาสนาเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ขอให้เรียกกรมการศาสนาเข้ามาเป็นคู่ความเอง และคำฟ้องของกรมการศาสนาก็เป็นเรื่องให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์เช่าจากกรมการศาสนาจึงเป็นเรื่องเดียวกันและเกี่ยวกับฟ้องเดิม เพียงขอเรียกค่าเสียหายมาด้วยเท่านั้นและคดีนี้ก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายซ้ำซ้อนเพราะจำเลยยอมรับมาเองว่า กรมการศาสนาได้รับความเสียหายเดือนละ 37.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งศาลชั้นต้นก็ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่กรมการศาสนาตามนั้น จำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ พิพากษายืน

Share