คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานแต่จำเลยที่2อธิบดีกรมแรงงานปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนแสดงว่าโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานแม้สหภาพแรงงานนั้นจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนและจำเลยที่2ปฏิเสธไปยังสหภาพแรงงานก็ตามย่อมมีผลโดยตรงต่อโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานทำให้ไม่ได้สิทธิและประโยชน์อันจะพึงได้รับจากการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานโจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา91ที่บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนมาฟ้องศาลนั้นเป็นเรื่องของร่างข้อบังคับเมื่อแรกจัดตั้งสหภาพแรงงานและกรณีตามมาตรา94ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยให้นำมาตรา91มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็เป็นเรื่องของข้อบังคับเช่นเดียวกันส่วนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการซึ่งพ้นตำแหน่งไปตามวาระหรือตามข้อบังคับเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยบุคคลไม่ใช่ข้อบังคับจะนำบทบัญญัติมาตรา91และ94มาใช้ไม่ได้กรณีนี้ไม่มีบทมาตราใดกำหนดขั้นตอนไว้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานกลางโดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่2ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน ระเบียบปฏิบัติงานว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยกำหนดโทษผิดวินัยมีเพียง6สถานคือไล่ออกปลดออกให้ออกลดขั้นเงินเดือนตัดเงินเดือนและภาคทัณฑ์ดังนี้การว่ากล่าวตักเตือนจึงไม่เป็นโทษทางวินัยส่วนทัณฑ์บนเป็นถ้อยคำหรือหนังสือสัญญาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำถึงผู้บังคับบัญชามิใช่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวเอาแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต่างกับการภาคทัณฑ์จึงไม่ใช่โทษทางวินัยการที่โจทก์มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนหรือมีอำนาจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำทัณฑ์บนแม้จะมีผลนำไปประกอบการพิจารณาความดีความชอบของลูกจ้างก็หาใช่เป็นอำนาจในการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา95วรรคสองไม่เพราะอำนาจลงโทษตามมาตรานี้จะต้องเป็นอำนาจโดยตรงมิใช่ถือเอาแต่ผลหรือถือเอาแต่เพียงมีอำนาจรายงานหรือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามมาตราดังกล่าวและไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามมาตรา101(1). (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1677-1678/2526และ2471/2527)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทยให้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนแสดงว่าโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 2 มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนโดยอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างประเภทดังกล่าวคำสั่งของจำเลยไม่ชอบและเป็นละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่ได้ปรับขั้นเงินเดือน1 ขั้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันจดทะเบียนให้โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทย และใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนอุตสาหกรรมเทียบเท่าตำแหน่งผู้จัดการสาขา เป็นพนักงานระดับหัวหน้าแผนกหรือเทียบเท่าขึ้นไปอันเป็นตำแหน่งงานบริหารมีอำนาจลงนามของธนาคารนายจ้าง มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร และสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำทัณฑ์บน ซึ่งนายจ้างจะนำไปพิจารณาความดีความชอบประจำปี เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งพนักงาน และโจทก์มีอำนาจรายงานคุณสมบัติพนักงานทดลองปฏิบัติงานเพื่อบรรจุหรือเลิกจ้างได้ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างประเภทผู้บังคับบัญชา ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่ถูกโต้แย้งสิทธิเพราะสหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ขอจดทะเบียนกับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะสหภาพแรงงานฯ เท่านั้นที่ถูกโต้แย้งสิทธิ และกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหภาพแรงงานผู้ขอจดทะเบียนจะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีเสียก่อนจึงมาฟ้องศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และมีอำนาจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำทัณฑ์บน ซึ่งนายจ้างจะนำไปประกอบพิจารณาความดีความชอบพนักงาน โจทก์จึงเป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาขาดคุณสมบัติเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน คำสั่งของจำเลยชอบแล้วและไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้สหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ขอจดทะเบียน และจำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนไปยังสหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทยก็ตาม แต่การปฏิเสธนั้นย่อมยังผลโดยตรงไปยังโจทก์ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน สิทธิและประโยชน์ใดอันโจทก์จะพึงได้รับแต่การเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน โจทก์เป็นอันไม่ได้รับเมื่อเช่นนี้โจทก์จึงถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิแล้ว ชอบที่โจทก์จะเสนอคดีต่อศาลได้ คำขอจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวด้วย “บุคคล”ไม่ใช่เป็นเรื่องของ “ข้อบังคับ” ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 90 อนึ่ง กรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมีสิทธิดำเนินการให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น เป็นเรื่องของร่าง “ข้อบังคับ” เมื่อแรกที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 91 และมาตรา 94 วรรคท้ายให้นำมาตรา 91 มาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยนั้นก็เป็นเรื่องของ “ข้อบังคับ” อีกเช่นกันแต่เป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติม “ข้อบังคับ” หาใช่เป็นเรื่องของ “บุคคล” ไม่ที่จำเลยจะให้นำมาตรา 91 และมาตรา 94 มาใช้แก่กรณีนี้ จึงเป็นการปรับกฎหมายที่ไม่ตรงต่อรูปเรื่องส่วนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ซึ่งพ้นตำแหน่งไปตามวาระหรือตามข้อบังคับ หามีบทมาตราใดกำหนดขั้นตอนไว้เหมือนกรณีของ “ข้อบังคับ”ตามมาตรา 91 และมาตรา 94 ไม่ ตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงาน หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัยข้อ 3.3 โทษผิดวินัยมีเพียง 6 สถานคือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก ลดขั้นเงินเดือนตัดเงินเดือน และภาคทัณฑ์ ดังนี้การว่ากล่าวตักเตือนจึงหาเป็นโทษทางวินัยไม่ดังจะเห็นได้จาก ข้อ 3.5 วรรคท้ายที่ว่า “ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าเห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ “คำว่า “งดโทษ” แสดงให้เห็นว่า การว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสืออันเกิดขึ้นต่อภายหลังนั้น มิใช่เป็นโทษโดยแจ้งชัด ส่วนทัณฑ์บนนั้นเป็นถ้อยคำหรือหนังสือสัญญาว่าจะไม่ประพฤติละเมิดตามเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้ทัณฑ์บนจึงเป็นถ้อยคำหรือหนังสือสัญญาอันเกิดแกต่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำถึงผู้บังคับบัญชามิใช่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวเอาแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งแตกต่างกว่าภาคทัณฑ์อันหมายถึงคำสั่งเกิดแต่ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวเอาแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเมื่อ “ทัณฑ์บน” มิใช่ “ภาคทัณฑ์” การที่จะแปลว่าทัณฑ์บนเป็นโทษสถานหนึ่งตามระเบียบปฏิบัติงาน ฯ ข้อ 3.3 ย่อมแปลเช่นนั้นมิได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การว่ากล่าวตักเตือนไม่ว่าด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรและทัณฑ์บน หาเป็นโทษทางวินัยตามระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวไม่ การที่โจทก์มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนหรือมีอำนาจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำทัณฑ์บน แม้ผลแห่งการนั้นจะนำไปประกอบการพิจารณาความดีความชอบของลูกจ้างก็หาใช่เป็นอำนาจในการลงโทษตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 95 วรรคสองไม่อำนาจลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวจักต้องเป็นอำนาจโดยตรง มิใช่ถือเอาแต่ผลหรือถือเอาแต่เพียงมีอำนาจรายงานหรือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งที่ มท.1108/7775 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2528 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนให้โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share