คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1มีกิจการประกันภัยต่อกับบริษัทต่างๆทั้งที่มีชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลายสิบแห่งจำเลยที่1มอบหมายหน้าที่ให้จำเลยที่2เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่1โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของจำเลยที่1ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่2อย่างใกล้ชิดจำเลยที่2ได้ทำสัญญาโดยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนรับประกันภัยในประเทศฮอลแลนด์ ฯลฯแทนจำเลยที่1โดยจำเลยที่1รู้เห็นและไม่ทักท้วงเช่นนี้จำเลยที่2จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์โจทก์กับจำเลยที่1จึงมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ตามข้อสัญญากำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแต่ปรากฏตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่1ว่าจำเลยที่1ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์จึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่1จะยอมเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามจำเลยที่1ให้ชำระหนี้แล้วจำเลยที่1ไม่ชำระการกระทำของจำเลยที่1เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่1โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนได้ จำเลยที่1ให้การเพียงว่าฟ้องขาดอายุความมิได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความในกรณีใดบ้างเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2ลงนามแทน ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนรับประกันภัยเกี่ยวกับตัวเรือนและเครื่องจักรของเรือที่แล่นภายในประเทศฮอลแลนด์ เบลเยี่ยมลุกแซมเบิร์ก เยอรมันตะวันตก และฝรั่งเศส แทนจำเลยที่ 1 มีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 จำกัดความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาและชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเต็มจำนวน เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้ว จำเลยที่ 1ยังต้องชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์และเมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,620,927 บาท 19 สตางค์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยมอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนสัญญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ฟ้องขาดอายุความ อีกทั้งโจทก์ฟ้องโดยไม่ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,620,927 บาท19 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า นายพร เลี่ยวไพรัตน์ และนางสาวมาลินีเลี่ยวไพรัตน์ เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง และตามเอกสารหมาย ล.20 ที่จำเลยที่ 2อ้างเป็นพยานระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1ในวันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2516 อันมีนายพร เลี่ยวไพรัตน์ประธานกรรมการ นางสาวมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการรองผู้จัดการและจำเลยที่ 2 กรรมการของจำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยกรรมการอื่น ๆ ได้มีการท้วงติงจากเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ 1เกี่ยวกับการใช้ชื่อตำแหน่งในการติดต่อกับต่างประเทศของจำเลยที่ 2 ในที่สุดที่ประชุมคงให้ดจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อตำแหน่งที่เคยใช้มาแต่เดิมได้ต่อไป ซึ่งเอกสารหมาย ล.20 นี้ ทนายจำเลยที่ 1คัดค้านมิให้ศาลรับฟัง แต่ปรากฎว่าขณะที่นายพร เลี่ยวไพรัตน์เบิกความ ทนายจำเลยที่ 2 ได้ถามพยานปากนี้เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวพยานเบิกความรับรอง ศาลชั้นต้นรับเอกสารนี้ไว้ สั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าอ้าง จำเลยที่ 2 ได้เสียค่าอ้างเอกสารไว้แล้วจึงรับฟังเอกสารหมาย ล.20 เป็นพยานได้ ตามเอกสารหมาย ล.20แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการต่างประเทศเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 1 ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดที่นายพรและนางสาวมาลินี ประธานและกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1เบิกความว่า ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ในคดีนี้จึงขัดต่อเหตุผล เพราะว่าจำเลยที่ 2 เริ่มเข้าทำงานติดต่อกับต่างประเทศด้านการประกันภัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ในปี พ.ศ. 2516ก็มีหลักฐานแสดงว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 1 ได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิดดังกล่าวแล้ว สัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ฉบับแรกเอกสารหมาย จ.6 ลงวันที่ 22มกราคม 2516 ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย ล.20 จำเลยที่ 1 น่าจะทราบการทำสัญญาฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์อีก ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.13 จำเลยที่ 2 เพิ่งออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 ตามเอกสารหมาย ล.4บริษัทจำเลยที่ 1 ก็น่าจะทราบเรื่องสัญญาเอกสารหมายเลข จ.7 และจ.13 ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ปรากฎว่าได้มีการท้วงติงการทำสัญญาเหล่านั้นอีก ทั้งที่นายพรและนางสาวมาลินีเบิกความว่าการทำสัญญากับต่างประเทศในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินงานจำเลยที่ 2ลงชื่อในสัญญาร่วมกับกรรมการอื่น ๆ อีก 1 คนนั้น หากสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ย่อมจะมีอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ด้วยซึ่งจำเลยที่ 1 อาจอ้างมาเป็นพยาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญาอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมา จำเลยที่ 2 ก็ได้ลงชื่อร่วมกับกรรมการอีก 1 คน เสมอมา คงมีแต่เฉพาะสัญญาเอกสารหมาย จ.6 จ.7 และ จ.13เท่านั้น ที่จำเลยที่ 2 ทำไปโดยลำพัง แต่ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1อ้างเอกสารเหล่านั้นมาเป็นหลักฐาน คำเบิกความของนายพรและนางสาวมาลินีกรณีนี้จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนัก น่าเชื่อว่าที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาเอกสารหมาย จ.6 จ.7 และ จ.13 จำเลยที่ 1รู้เห็นและไม่ทักท้วง จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาเอกสารหมาย จ.6 จ.7 และ จ.13กับโจทก์ สัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบเขตวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 และปรากฎตามเอกสารหมาย จ.13ว่า การดำเนินงานของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องผ่านบริษัทลาวน์เดสแลมเบิร์ต กรุ้พ จำกัด คนกลาง กับโจทก์อ้างรายงานประจำปีแสดงฐานะการเงินและกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.39เป็นพยาน จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวว่าเฉพาะในปี พ.ศ. 2521 จำเลยที่ 1 มีกิจการประกันภัยต่อกับบริษัทต่างๆทั้งที่มีชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลายสิบแห่งเฉพาะที่เป็นภาษาต่างประเทศก็มีแห่งหนึ่งมีชื่ออย่างเดียวกับบริษัทคนกลางตามที่ปรากฎในเอกสารหมาย จ.13 รวมอยู่ด้วย คือชื่อในลำดับที่ 2ของชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนั้นโดยปกติแล้วถ้าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีความเกี่ยวพันกันมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่โจทก์จะลงทุนฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ให้ยุ่งยากแก่ตนจึงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในกิจการประกันภัยกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับข้อที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกาโต้เถียงเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น…เมื่อได้ความตามฟ้องว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับการรับประกันภัยเกิดขึ้นและมีหนี้ผูกพันเกี่ยวด้วยการปฏิบัติตามสัญญานั้นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแต่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการนั้นเห็นว่าตามข้อสัญญากำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแต่ปรากฎตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการ แม้โจทก์มีความประสงค์เช่นนั้น และปรากฎตามฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป้นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้… ส่วนข้อโต้แย้งในเรื่องอายุความนั้นปรากำว่า จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องขาดอายุความ มิได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความกรณีใดบ้าง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งนี้เพราะอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในแต่ละประเภทมีกำหนดเวลาต่างกันคำให้การจำเลยที่ 1 กรณีนี้จึงไม่เป้นประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ ไม่จำต้องวินิจฉัย ข้อโต้แย้งนี้อื่นในคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไป…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 154,962.14เหรียญดัชฟลอรินท์ และ 107,833.37 เหรียญเบลเยี่ยมฟรังซ์ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลนี้พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นต้นเงินไม่เกินกว่า1,620,927 บาท 19 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท”.

Share