คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับผู้ตายวิวาทชกต่อยกันล. มาห้ามจำเลยจึงหยุดวิวาทกับผู้ตายต่อมาประมาณ2นาทีผู้ตายวิ่งไปเอาไม้ไล่ตีจำเลยอีกจำเลยวิ่งหนีขึ้นไปบนกุฏิสามเณรผู้ตายวิ่งไล่ตามขึ้นไปทำร้ายจำเลยจำเลยแทงผู้ตายเพียงครั้งเดียวด้วยมีดปอกผลไม้ที่เหน็บอยู่ที่ฝาห้องจำเลยไม่มีโอกาสไตร่ตรองว่าจะถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 แต่ผู้ตายมีส่วนในการก่อเหตุด้วย จำคุก 15 ปี คำให้การของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลย 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตาย 1 ที ถูกที่บริเวณขอบกระดูกไหปลาร้าซ้าย ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเข้าต่อสู้กับผู้ตาย จำเลยแทงผู้ตายขณะที่ยังมีการวิวาทต่อเนื่องกันอยู่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกัน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มีผู้ห้ามผู้ตายกับจำเลยให้เลิกวิวาทต่อสู้กัน ผู้ตายกับจำเลยเลิกกันประมาณ 2 นาที จำเลยวิ่งหนีขึ้นกุฎิ การที่มีคนมาห้ามและจำเลยวิ่งหนีขึ้นกุฎินั้น ถือได้ว่าจำเลยเลิกทะเลาะวิวาทกับผู้ตายแล้ว เมื่อได้ความว่า ผู้ตายวิ่งไปเอาไม้มาไล่ตีจำเลยอีกทั้งที่จำเลยไปจากที่เกิดเหตุแล้ว ไม้ที่ผู้ตายใช้ตีจำเลยสามารถทำให้จำเลยตายได้ และกลับปรากฎว่าแขนจำเลยถูกผู้ตายตีจนหักจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเพียงครั้งเดียวการกระทำขแงจำเลยจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ข้อที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นแตกต่างกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์มีสามเณรสมนึกกับนายพนม (สามเณรพนม) เบิกความว่าจำเลยกับผู้ตายมีเรื่องทะเลาะกัน จำเลยผลักผู้ตาย ผู้ตายจึงไปหยิบไม้ลูกกรงขนาดหน้าตักกว้างราว 5 เซนติเมตร ยาวราว 1 เมตร มาตีจำเลยจนไม้หัก แล้วเกิดชกต่อยกอดปล้ำกันก็มีหลวงตาเล็กมาห้ามโดยใช้มือยันทั้งสองฝ่ายไว้จึงเลิกวิวาทกันประมาณ 2 นาที แล้วผู้ตายก็วิ่งไปหยิบไม้ลูกกรงขนาดเดิมมาอีก จำเลยจึงวิ่งหนีขึ้นกุฎิสามเณรสมนึกเข้าไปในห้องผู้ตายวิ่งไล่ตามจำเลยเข้าไปในห้องแล้วมีเสียงตึงตังในห้อง ตามคำเบิกความของสามเณรสมนึกยังได้ความอีกว่า มีดที่จำเลยใช้แทงผู้ตายเป็นมีดใช้ปอกผลไม้ของสามเณรสมนึกเหน็บไว้ที่ฝาห้อง ตามคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยกับผู้ตายทะเลาะวิวาทกันจนชกต่อยกอดปล้ำกันจำเลยไม่มีอาวุธ และเมื่อหลวงตาเล็กมาห้ามแยกจำเลยกับผู้ตาย จำเลยก็หยุดวิวาทกับผู้ตายผู้ตายวิ่งไปหยิบไม้มา จำเลยก็วิ่งหนีขึ้นไปบนกุฎิของสามเณรสมนึก พฤติการณืแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะวิวาทกับผู้ตายอีกแล้ว การที่ผู้ตายถือไม้ไล่ตีจำเลยขึ้นไปบนกุฎิสามเณรสมนึกไม่เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกับการวิวาทครั้งแรก แต่ถือได้ว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นใหม่ที่จะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นจากการประทุษร้ายของผู้ตาย ไม้ที่ผู้ตายใช้ตีจำเลยสามารถทำให้จำเลยตายได้ การที่จำเลยใช้มีดปอกผลไม้ที่พบอยู่ในที่เกิดเหตุแทงผู้ตายเพียงครั้งเดียวในขณะที่ผู้ตายทำร้ายอันเป็นการฉุกเฉิน จำเลยย่อมไม่มีโอกาสไตร่ตรองว่าจะถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่จึงเป็นการกระทำป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”.

Share