คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1ขับรถยนต์ด้วยความเร็วแต่อยู่ในช่องทางเดินรถของตน จำเลยที่2ขับรถยนต์กินทางเข้าไปในช่องทางเดินรถของจำเลยที่1จึงเกิดชนกันขึ้นเหตุที่เกิดการชนกันจึงเป็นความประมาทของจำเลยที่2แม้หลังเกิดเหตุจำเลยที่1จะหลบหนีไม่แสดงตัวแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตามกฎหมายจะให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดก็เป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่1ไม่ได้กระทำผิดจะนำข้อสันนิษฐานมารับฟังลงโทษจำเลยที่1หาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ จำเลยที่ 2ขับรถยนต์เก๋งโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน และจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส เกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ให้ความช่วยเหลือไม่แสดงตัว และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 300 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคสอง, 43(4) 78, 151, 157, 160 วรรคสอง,162 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ลงโทษจำคุก 1 ปี ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้ลงโทษตามมาตรา 43(4) ประกอบกับมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ1,000 บาท ความผิดตาม มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 160 วรรคสอง จำคุก2 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือนปรับ 1,000 บาท กับให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ตามมาตรา 162 มีกำหนด 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคสอง, 43(4),51, 157 ให้ลงโทษตามมาตรา 43(4), 157 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 90) ปรับ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคสอง, 43(4) ให้ลงโทษตามมาตรา 43(4) ประกอบกับมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท ผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ลงโทษตาม มาตรา 160 ปรับ 2,000 บาทรวมปรับ 3,000 บาท คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อหาในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 หรือไม่” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ บรรทุกรายไปตามถนนสายปทุมธานี-กรุงเทพมหานคร โฉมหน้าไปทางกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งไปตามถนนสายเดียวกัน โฉมหน้าไปทางจังหวัดปทุมธานี สวนทางกับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับแล้วเกิดเหตุชนกันบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ชนกันแล้วรถยนต์บรรทุกพลิกตะแคงอยู่ข้างถนนด้านซ้ายมือ ส่วนรถยนต์เก๋งหมุนกลับหัวรถไปทางกรุงเทพมหานครและจอดอยู่ในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 2 ผู้ขับรถยนต์เก๋งได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุที่รถชนกันจำเลยที่ 1 นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งด้วยความเร็ว และรถแล่นตกไปที่ไหล่ถนนจึงแฉลบไปทางขวาพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับโดยหน้ารถยนต์เก๋งด้านซ้านชนด้านหน้ารถยนต์บรรทุก แล้วรถยนต์เก๋งหมุนกลับหัวรถไปทางกรุงเทพมหานครและจอดอยู่ในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก ซึ่งข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุรถชนกันมาสืบ แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบรรจงจะบัง พยานโจทก์ว่าหลังเกิดเหตุพยานได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วได้ทำแผนที่เกิดเหตุบันทึกการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและถ่ายภาพรถยนต์ทั้งสองคันไว้ถนนที่เกิดเหตุกว้าง 5.50 เมตร จุดที่รถชนกันอยู่ห่างจากขอบถนนด้านทิศตะวันออก ประมาณ 2.35 เมตรจุดชนดังกล่าวสันนิษฐานได้จากเศษกระจกและพวกน้ำมันเครื่องซึ่งตกอยู่จำนวนมากตรงจุดที่สันนิษฐานนั้น จุดที่รถชนกันนี้ได้แสดงไว้ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ลงชื่อรับรองไว้ว่า พนักงานสอบสวนได้จัดทำขึ้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทุกประการ จึงฟังได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นถนนที่เกิดเหตุกว้าง 5.50 เมตร จุดกึ่งกลางถนนจึงอยู่ห่างขอบถนน2.75 เมตร จุดที่รถชนกันอยู่ห่างขอบถนนด้านทิศตะวันออกประมาณ2.35 เมตร จึงอยู่ห่างจุดกึ่งกลางถนนประมาณ 40 เซนติเมตร และอยู่ในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับเมื่อพิเคราะห์สภาพความเสียหายของรถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 2 ขับซึ่งเสียหายมากที่ด้านหน้ารถด้านซ้าย ส่วนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหายที่ด้านหน้ารถด้านขวาประกอบกับจุดที่รถชนกันซึ่งอยู่ในทางเดินรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับแล้ว น่าเชื่อดังจำเลยที่ 1 นำสืบว่ารถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 1 ขับแฉลบจากด้านซ้ายไปทางด้านขวาเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับจึงเกิดชนกันแล้วรถยนต์เก๋งหมุนไปทางขวาหัวรถหันกลับไปในทางตรงกันข้ามและจอดอยู่ในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก หากรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1ขับแซงรถยนต์บรรทุกคันอื่นกินทางเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 2 ขับและชนกับรถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 2 ขับในทางเดินรถของรถยนต์เก๋งดังจำเลยที่ 2 นำสืบแล้ว รถยนต์เก๋งจะต้องเสียหายมากทางด้านหน้าขวาและจะต้องตกถนนไปทางด้านซ้ายไม่น่าจะหันหัวกลับไปทางขวาและไปจอดในทางเดินรถยนต์บรรทุกซึ่งอยู่ทางด้านขวาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งกินทางเข้าไปในทางเดินรถของรถยนต์บรรทุกที่ จำเลยที่ 1 ขับจึงเกิดเหตุชนกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ จึงเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถด้วยความเร็วแต่ก็อยู่ในทางเดินรถของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2ไม่ขับรถกินทางเข้าไปในทางเดินรถของจำเลยที่ 1 ก็จะไม่เกิดเหตุรถชนกัน ดังนั้น ที่รถยนต์ชนกันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับบาดเจ็บสาหัสจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 2 เองมิใช่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 หลบหนี ไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่จำเลยที่ 2 ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหนี้ที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดนั้น เห็นว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในเบื้องต้น เมื่อในทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิด ก็จะนำข้อสันนิษฐานมารับฟังลงโทษหาได้ไม่”
พิพากษายืน.

Share