คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.พ.มาตรา177วรรคสองนั้นนอกจากจำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนแล้วยังจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการนั้นด้วย จำเลยให้การเพียงว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้โดยมิได้กล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุที่อ้างว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ที่จำเลยฎีกาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำต่อหน้าพยานสองคนจำเลยมิได้ยกเหตุนี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การแม้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาก็ใช้ดุลพินิจไม่รับวินิจฉัยให้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งที่นาพิพาทให้ครึ่งหนึ่ง ตามพินัยกรรมท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นเป็นพินัยกรรมที่โจทก์กับปลัดอำเภอสมคบกันทำขึ้นในขณะที่เจ้ามรดกกำลังป่วยหนักสติเลอะเลือน ไม่อาจให้ถ้อยคำตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้ ประกอบกับพินัยกรรมฉบับนี้มิได้ทำโดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่งตามพินัยกรรม จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำต่อหน้าพยานสองคน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่ได้ให้การถึงเรื่องพยานในพินัยกรรมไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นจะต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องพยานในพินัยกรรม พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่าคำให้การตอนหลังของจำเลยที่ว่าพินัยกรรมมิได้ทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้นั้น เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแล้วไม่จำต้องบอกว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเป็นรายละเอียดที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นสืบพยาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง นั้น นอกจากจำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนแล้วจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการนั้นด้วย ปรากฏว่าจำเลยให้การแต่เพียงว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นโมฆะใช้บังคับได้ ไม่ได้กล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุที่อ้างว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องไม่สมบูรณ์ คำให้การของจำเลยที่อ้างเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องคงมีแต่เพียงว่า โจทก์และนายวิสุทธิ์กับพวกสมคบกันทำพินัยกรรมดังกล่าวขึ้นในขณะที่นายฟองกำลังป่วยหนัก สติเลอะเลือนไม่อาจให้ถ้อยคำตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ดังนั้นที่จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่าพินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำต่อหน้าพยานสองคนนั้น จำเลยมิได้ยกเหตุข้อนี้ขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ แม้จะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความมสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรไม่วินิจฉัยให้.

Share