แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การบอกเลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขาดการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เป็นการเลิกจ้างในสถานการณ์ปกติที่นายจ้างไม่ได้ประสบภาวะวิกฤติร้ายแรงในการประกอบกิจการ แต่หากนายจ้างต้องประสบภาวะวิกฤติร้ายแรงถึงขั้นความอยู่รอดของกิจการ นายจ้างก็มีสิทธิอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
จำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2541 ผลกำไรลดลง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อการประกอบธุรกิจการบินของจำเลย จำเลยต้องดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงทุกด้าน และมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับฐานบินในประเทศไทยด้วยซึ่งเป็นฐานบินขนาดเล็ก โดยลดพนักงานและเลิกจ้างลูกเรือทั้งหมด 38 คน รวมทั้งโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการเลิกจ้างในสถานการณ์ไม่ปกติ แม้ไม่ใช่สาเหตุมาจากลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน กระทำความผิด ขาดการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทจำเลย หรือไม่ไปรับการรักษาพยาบาลตามที่จำเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในอุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิยกเป็นเหตุเลิกจ้างได้ ทั้งจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกจ้างแก่โจทก์ทั้งสองเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ถูกต้องตามกฎข้อบังคับในการว่าจ้าง การบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ทั้งสองชอบแล้ว จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีอีกเก้าสำนวน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 ในระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 9 และที่ 11 ตกลงกับจำเลยได้ ศาลแรงงานกลางสั่งแยกคดีออกไปและพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 10 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เรียกโจทก์ใหม่ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับและคดีสำหรับโจทก์ที่ 3 ถึงที่สุดโดยคู่ความไม่อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างเป็นเงิน 9,284,934 บาท 9,967,335.76 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามลำดับและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์คนละ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การบอกเลิกสัญญาจ้างเพราะเหตุลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขาดการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เป็นการเลิกจ้างในสถานการณ์ปกติที่นายจ้างไม่ได้ประสบภาวะวิกฤติร้ายแรงในการประกอบกิจการ แต่หากนายจ้างต้องประสบภาวะวิกฤติร้ายแรงถึงขั้นความอยู่รอดของกิจการ นายจ้างก็มีสิทธิอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2541 ผลกำไรลดลง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายนำเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ทำให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อการประกอบธุรกิจการบินของจำเลยจำเลยต้องดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงทุกด้าน ได้แก่ ลดลูกเรือที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบินเลิกจ้างพนักงาน 13,000 ตำแหน่ง ยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางไม่เหมาะสม ลดเงินเดือนพนักงานในระดับผู้บริหาร งดจ่ายโบนัสและไม่ขึ้นเงินเดือนแก่พนักงาน ปิดฐานบินหลายประเทศ และช่วงไตรมาสสุดท้ายของงบการเงินปี 2544 ถึง 2545 ผลประกอบกิจการขาดทุน 160,000,000 ปอนด์ คิดผลประกอบกิจการทั้งปีขาดทุน 110,000,000 ปอนด์ จำเลยจึงมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับฐานบินในประเทศไทยด้วยซึ่งเป็นฐานบินขนาดเล็ก โดยลดพนักงานในส่วนงานธุรการ พนักงานขาย พนักงานประจำสนามบิน พนักงานในส่วนงานวิศวกรรม และเลิกจ้างลูกเรือทั้งหมด 38 คน รวมทั้งโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการเลิกจ้างในสถานการณ์ไม่ปกติ แม้ไม่ใช่สาเหตุมาจากลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน กระทำความผิด ขาดการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทจำเลย หรือไม่ไปรับการรักษาพยาบาลตามที่จำเป็นดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในอุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิยกเป็นเหตุเลิกจ้างได้ ทั้งจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกจ้างแก่โจทก์ทั้งสองเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ซึ่งถูกต้องตามกฎข้อบังคับในการว่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อ อี อาร์ 19, ข้อ 4 ที่กำหนดว่าการว่าจ้างพนักงานอาจยุติลงเพราะเหตุบริษัทปรับปรุงหน่วยงานอันเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนพนักงาน บริษัทจะแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนเลิกจ้างยาวนานกว่าระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ตามเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาจ้างที่โจทก์ทั้งสองอ้างในอุทธรณ์เสียอีก การบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ทั้งสองชอบแล้วจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน