คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055-4056/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 84 หมายความว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดคู่ความฝ่ายนั้นต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์สนับสนุนข้อเท็จจริงนั้น แต่ว่าคู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้หรือซึ่งศาลเห็นว่าไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เนื่องจากข้อเท็จจริงนั้นอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางได้ตรวจสำนวนโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความส่งต่อศาลและสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 84 และ 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 แล้ว
การฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ต้องเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรงหรือกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนสำหรับการฝ่าฝืนในกรณีไม่ร้ายแรง ปรากฏว่าในระหว่างเวลาทำงานและในที่ทำงานโจทก์ทั้งสองโต้เถียงกันในเรื่องการทำงาน เมื่อหัวหน้างานห้ามปรามให้เงียบ โจทก์ทั้งสองก็ยังคงโต้เถียงกันอีก และโจทก์ที่ 2 ได้เขวี้ยงท่อพีวีซีใส่โจทก์ที่ 1 แต่ไม่โดน และทรัพย์สินของจำเลยไม่ได้เสียหาย เป็นการกระทำที่มีลักษณะไม่รุนแรงและไม่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย จึงเป็นการฝ่าฝืนในกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองทันทีโดยไม่เคยตักเตือนโจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (2) และ (3)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลมีคำสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,380 บาท ค่าชดเชยจำนวน 15,300 บาท และค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,380 บาท ค่าชดเชยจำนวน 30,600 บาท และค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 15,300 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,600 บาท แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยคดีโดยรับฟังข้อเท็จจริงจากการสอบถามโจทก์และจำเลยและตัดสินชี้ขาดคดีตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ โดยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์และจำเลยนำพยานเข้าสืบเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27, 87 และ 88 จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกฎหมายและผิดระเบียบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง แต่ว่า
(1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปหรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว…” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์สนับสนุนข้อเท็จจริงนั้น เว้นแต่คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือศาลเห็นว่าไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เนื่องจากข้อเท็จจริงนั้นอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ตรวจสำนวนโดยพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความส่งต่อศาลและสอบถามข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 และ 104 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันในบริเวณที่ทำงาน อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยแล้ว ไม่ว่าการฝ่าฝืนนั้นจะร้ายแรงหรือไม่ จำเลยก็สามารถเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า การฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ต้องเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง หรือกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน สำหรับในกรณีฝ่าฝืนในกรณีไม่ร้ายแรง คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 ในระหว่างเวลาทำงานและในที่ทำงานโจทก์ทั้งสองโต้เถียงกันในเรื่องการทำงานเมื่อหัวหน้างานห้ามปรามให้เงียบ โจทก์ทั้งสองก็ยังคงโต้เถียงกันอีกและโจทก์ที่ 2 ได้เขวี้ยงท่อพีวีซีใส่โจทก์ที่ 1 แต่ไม่โดน และทรัพย์สินของจำเลยไม่ได้เสียหาย การกระทำของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวมีลักษณะไม่รุนแรง และไม่เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย จึงเป็นการฝ่าฝืนในกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองทันทีโดยไม่เคยตักเตือนโจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (2) และ (3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share