คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10510-10512/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามเป็นคนหางานฟ้องเรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 บริษัทผู้จัดหางานเรียกเก็บไปจากโจทก์ทั้งสามคืน ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 46 ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จึงไม่อาจนำความในมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาปรับใช้เพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างด้วย กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 และมาตรา 820, 821 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 177,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ทั้งสามสำนวนขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 177,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 เมษายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นคนหางานฟ้องเรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดหางานเรียกเก็บไปจากโจทก์ทั้งสามคืน ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 46 โจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จึงไม่อาจนำความในมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาปรับใช้เพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นนายจ้างด้วย กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 และมาตรา 820, 821 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 3 แม้จะไม่ได้อุทธรณ์ แต่กรณีเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share