แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ แต่โจทก์มีคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนแสดงรายละเอียดการกระทำความผิดตั้งแต่ตอนจำเลยที่ 1 ทาบทามว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 1 ประชุมวางแผน ลงมือฆ่า ปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับแสร้งเอาสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไปซ่อน แล้วจำเลยที่ 1 ใช้เศษไม้ขูดคอตนเองให้เป็นรอยเพื่อแสร้งทำว่าถูกคนร้ายตี และจำเลยทั้งสามได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขอขมาศพผู้ตายกับบิดาผู้ตาย แสดงถึงความสำนึกผิด และจำเลยที่ 1 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาสร้อยข้อมือผู้ตายกับสร้อยคอของตนตรงที่ซ่อนไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปเอาเหล็กขูดชาพท์ซึ่งใช้แทงผู้ตายที่ทิ้งไว้ขณะวิ่งหนี กับได้พบมีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 3 ใช้แทงผู้ตายแล้วทิ้งไว้ ตรงตามสถานที่ที่ระบุไว้ในคำให้การ และจำเลยที่ 2 ได้พาพนักงานสอบสวนไปพบ อ.ที่ต่างจังหวัดให้นำไปยึดเอาสร้อยคอที่ร้านขายทองคืนมาด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของ น. ร. กับ อ.ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ขอให้ น.นำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 พยานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 วานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าผู้ตายและลักทรัพย์ตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันพาอาวุธไปฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้นางอลิศรา ศิริสุรวุฒิ ภรรยาของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันลักสร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำของผู้ตายไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 84, 83, 335, 371, 91 ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนหลังแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4), 84 วรรคสอง วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 335 (1) (7), 371 เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน วางโทษประหารชีวิต ฐานลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี และฐานพาอาวุธปรับ 90 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 เรียงกระทงลงโทษ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน วางโทษประหารชีวิต ฐานพาอาวุธปรับ 90 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงแรกตลอดชีวิตกระทงที่สองจำคุก 1 ปี 4 เดือน กระทงที่สามปรับ 60 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงแรกตลอดชีวิต กระทงที่สองปรับ 60 บาท รวมแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบของกลาง คำของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และพาอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7), 371 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 60 บาท ตามลำดับ และลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานพาอาวุธให้ปรับ 60 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดใน 2 ข้อหานี้ด้วยอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาใน 2 ข้อหานี้ด้วยก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยใน 2 ข้อหาดังกล่าว
สำหรับความผิดต่อชีวิตข้อเท็จจริงเบื้องต้นศาลฎีกาฟังว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายร่วมกันใช้เหล็กขูดชาฟท์และมีดปลายแหลมเป็นอาวุธแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายรวม 26 แผล จนถึงแก่ความตาย และลักเอาสร้อยคอทองคำของผู้ตายไปด้วย ปัญหามีว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดฐานเป็นผู้ใช้และร่วมกันฆ่าผู้ตายตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่และวินิจฉัยว่าคดีนี้แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยาน แต่โจทก์ก็มีบันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามมาเป็นพยาน และมีพันตำรวจโทเฉลิม ขาวปลื้ม พนักงานสอบสวนเบิกความยืนยัน โดยจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2531 จำเลยที่ 1 ได้พูดขอให้จำเลยที่ 2 และ 3 ฆ่าผู้ตายเพราะจำเลยที่ 1 กับผู้ตายซึ่งเป็นสามีภริยากันมีเรื่องทะเลาะกันบ่อยรู้สึกเบื่อหน่าย กำหนดให้ลงมือในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2531 เวลา 21 นาฬิกาให้คนทั้งสองไปคอยที่หน้าบ้าน ให้จำเลยที่ 3 เป็นคนตีจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 แทงผู้ตาย แล้วให้เอาสร้อยคอ สร้อยข้อมือของผู้ตายกับสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไป โดยจำเลยที่ 1 จะไปแจ้งความว่าถูกคนร้ายชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตาย ตกลงให้สร้อยทองดังกล่าวเป็นค่าจ้าง ครั้นเมื่อถึงวันนัดเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปบอกคนทั้งสองให้ลงมือได้ โดยให้ไปรอที่หน้าบ้าน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงพากันไปคอยที่ซอยห่างบ้านบิดาจำเลยที่ 1 ประมาณ 20 เมตรจนเวลา 21 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ผู้ตายนั่งซ้อนท้ายออกจากบ้านตรงมาที่จุดนัดพบ จำเลยที่ 1 ดับเครื่องรถพูดทักทายคนทั้งสอง แล้วจำเลยที่ 2 ได้เข้ารัดคอผู้ตายลงจากรถใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตาย โดยมีจำเลยที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมช่วยแทงคนละหลายที และจำเลยที่ 3 ได้กระชากเอาสร้อยคอของผู้ตายด้วย แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พากันวิ่งหลบหนี จำเลยที่ 1 เห็นว่าคนทั้งสองมิได้ตีจำเลยที่ 1 และเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับสร้อยคอของจำเลยที่ 1 ไปด้วยตามแผนที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงปลดเอาสร้อยข้อมือของผู้ตายกับสร้อยคอของตนเองไปซ่อนไว้ที่ใต้ต้นเข็มริมรั้วบ้านของบิดาและเอาเศษไม้บริเวณนั้นมาขูดที่ต้นคอให้เป็นรอยแสดงว่าถูกคนร้ายตีแล้วจำเลยที่ 1 ได้เรียกน้องสาวให้ไปตามบิดาบอกว่าถูกคนร้ายชิงทรัพย์และตี สำหรับจำเลยที่ 3 เมื่อวิ่งหนีไปได้ 100 เมตร ได้ทิ้งมีดปลายแหลมที่ใช้แทงผู้ตายในระหว่างทาง ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทิ้งเหล็กขูดชาฟท์ดังกล่าวเมื่อวิ่งหนีไปถึงป่ามันสำปะหลัง วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 พากันหลบหนีไปอำเภอเมืองนครราชสีมา ไปหานางสาวน้ำอ้อย ขอกดสำโรง คนรู้จักกันขอให้นำสร้อยคอดังกล่าวไปขาย นำเงินมาแบ่งกัน แล้วแยกกันไป โดยจำเลยที่ 2 กลับมาทำงานที่ร้านสุริยนต์การช่างตามเดิม ส่วนจำเลยที่ 3 กลับไปหาภริยาที่จังหวัดขอนแก่น จะเห็นได้ว่าตามบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามดังกล่าวมีรายละเอียดตั้งแต่ตอนจำเลยที่ 1 ทาบทามจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนให้ฆ่าผู้ตาย ตอนแรกจำเลยที่ 2 ก็ห้ามปรามให้จำเลยที่ 1 หาวิธีอื่นดีกว่า แต่จำเลยที่ 1 ยืนยัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้ทำตามที่จำเลยที่ 1 ขอร้องเพราะความรักเพื่อน นอกจากบันทึกคำให้การรับสารภาพดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสามยังได้แสดงแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอขมาศพผู้ตายซึ่งตั้งอยู่ที่วัดขณะทำพิธีศพ กับได้ขอขมาบิดาผู้ตายให้พนักงานสอบสวนถ่ายภาพไว้ อันแสดงถึงความสำนึกผิด นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้พาพนักงาน-สอบสวนไปเอาสร้อยคอกับสร้อยข้อมือที่ใต้ต้นเข็มริมรั้วบ้านของบิดา ซึ่งก็พบสร้อย 2 เส้นดังกล่าวตรงตามที่ให้การไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้พาไปเอาเหล็กขูดชาฟท์ที่ทิ้งไว้ ก็พบอยู่ที่ป่ามันสำปะหลังจริง และจำเลยที่ 2 ยังได้พาพนักงานสอบสวนไปพบนางสาวน้ำอ้อยที่จังหวัดนครราชสีมาให้พาไปยึดเอาสร้อยคอที่นำไปขายไว้ที่ร้านขายทองฉัตรฟ้ามาได้จริง สำหรับมีดปลายแหลมของกลางพนักงานสอบสวนตรวจพบตกอยู่ที่ซอยห่างที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตรตรงตามที่จำเลยที่ 3 ให้การว่าได้ทิ้งไว้หลังเกิดเหตุจริงอีกเช่นกัน ทั้งเหล็กขูดชาฟท์และมีดปลายแหลมของกลางตรวจแล้วพบคราบโลหิตมนุษย์ติดอยู่ด้วย ตรงตามที่จำเลยทั้งสามให้การว่าได้ใช้อาวุธดังกล่าวแทงผู้ตาย และโจทก์มีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนางสาวน้ำอ้อยขอกดสำโรง นางสาวรุจิราพร ศรีบุญช่วย กับนางสาวอรทัย วิริยะกุลนันท์ เจ้าของร้านขายทองฉัตรฟ้ามาสนับสนุน ซึ่งตามบันทึกคำให้การได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขอให้นางสาวน้ำอ้อยนำสร้อยคอของกลางไปขายตรงตามที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การ ทำให้เชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพไว้ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามไม่น่าเชื่อถือ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถูกจับและถูกควบคุมตัวตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ แล้วจำเลยที่ 2 จะไปทำผิดคดีนี้ได้อย่างไรนั้น จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งถูกจับหลังเกิดเหตุคดีนี้ 3 วัน มิใช่ถูกจับและถูกควบคุมตัวก่อนเกิดเหตุดังจำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา
พิพากษายืน.