แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้จัดการของนิติบุคคลกระทำการซึ่งมีมูลเป็นความผิดทางอาญา แม้จะกระทำในกิจการของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้จัดการนั้นก็อาจถูกควบคุมในระหว่างสอบสวนได้ในเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๐, ๓๑๐, ๘๓, ๘๔
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยปฏิบัติราชการไปตามหน้ามที่กระทรวงมหาดไทนสั่งมา หามีเจตนากลั่นแกล้งไม่ คดีโจทก์ไม่มีมูล
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อนิติบุคคลกระทำผิด พนักงานสอบสวนจะกักขังควบคุมตัวผู้จัดการไม่ได้
่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์รับบริการส่งคนไทยอิสลากไปเมกกะโดยเรียกเอาค่าบริการสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่เมืองเมกกะ แต่โจทก์ไม่ส่งเงินค่าใช้จ่ายไปให้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำของโจทก์โดยตรงถูกต้องแล้ว แต่โจทก์จะกระทำเพื่อใครนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อการกระทำของโจทก์มีมูลเป็นความผิดอาญา จำเลยก็มีอำนาจสอบสวนโจทก์ได้ จำเลยได้สอบสวนโจทก์เป็นผู้ต้องหาร มิใช่กล่าวหานิติบุคคล ย่อมมีอำนาจที่จะควบคุมโจทก์ได้ ในเมื่อระหว่างสอบสวนปรากฏว่า เป็นผู้กระทำความผิด การกระทำของโจทก์ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า อาจมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ซึ่งมิใช่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ และมีอายุความถึง ๑๐ ปี เหตุเพิ่งเกิดไม่ถึงปี เป็นการชี้เรื่องอายุความอยู่ในตัวแล้ว
พิพากษายืน