คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723-724/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หากจะฟังว่าโจทก์เป็นตัวแทน แต่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดี ตามปรกติจะถือว่ามีอำนาจยื่นฟ้องคดีโดยอ้างว่าเนื่องจากเหตุฉุกเฉินนั้น หาได้ไม่ เพราะไม่ปรากฏว่าถ้าไม่ฟ้องคดีตามวันที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นการเสียหายแก่ตัวการอย่างใด เช่นคดีจะขาดอายุความเป็นต้นและทั้งจะถือว่าการยื่นฟ้อง เช่นว่านั้น เป็นการปฏิบัติการอย่างเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำก็ไม่ได้ เพราะปรากฏชัดอยู่แล้วตามใบมอบอำนาจว่า โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 802 เป็นบทบัญญัติให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่าตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวการได้ในเหตุฉุกเฉิน ข้อสำคัญก็ต้องเป็นตัวแทนเสียก่อนแล้วกระทำการซึ่งเป็นการจำเป็นต่อไป และต้องเป็นตัวแทนในประเทศไทยด้วย ถ้าเป็นตัวแทนของโจทก์แต่เฉพาะในอาณานิคมฮ่องกง มิได้เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยด้วยแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะอ้าง มาตรา 802 นี้ได้เลย
ในขณะยื่นฟ้อง ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลไทย การที่ศาลรับฟ้องไว้จึงเป็นการขัดต่อวิธีพิจารณาไม่มีทางใดที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมาก็ดี ก็หาทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้มาก่อนแล้วนั้น กลับคืนดีเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาขึ้นมาในภายหลังได้ไม่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2502)

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ พิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อจำเลย ศาลสั่งอนุญาต

จำเลยให้การแก้ฟ้องว่า

(1) นายซูเยนเซน ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และไม่มีอำนาจแต่งตั้งให้นาย เอ.เอช.ดุ๊ก เป็นทนายฟ้องคดี

(2) คำร้องของโจทก์ถือเป็นการแก้ฟ้องเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนตัวจำเลย

นอกจากนั้น ยังให้การแก้คดีในข้ออื่น ๆ อีกมาก

หลังจากจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแล้วประมาณ 3 เดือน โจทก์ทั้งสองคดีจึงยื่นคำแถลงว่า โจทก์ได้รับเอกสารเพิ่มเติมบางอย่างเกี่ยวแก่คดี และขอส่งเอกสารประกอบ กล่าวโดยเฉพาะคือ สำเนาหนังสือมอบอำนาจและสัตยาบันของนายซูเยนเซน (ผู้จัดการธนาคารแห่งประเทศจีนที่ฮ่องกง) และสำเนาหนังสือมอบอำนาจของนายซูเยนเซนมอบอำนาจเพิ่มเติมให้นาย เอ.เอช.ดุ๊ก ดำเนินกิจการเกี่ยวกับคดีทั้งสองนี้ในศาลแห่งประเทศไทย

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเบื้องต้นว่า หนังสือมอบฉันทะที่โจทก์ให้ไว้แก่นายซูเยนเซนนั้น นายซูเยนเซนมีอำนาจที่จะฟ้องคดีนี้หรือแต่งตั้งทนายคนใดให้ฟ้องคดีในประเทศไทยแทนโจทก์ได้หรือไม่ ศาลสั่งว่าจะชี้ขาดเมื่อทำคำพิพากษา

ศาลแพ่งเห็นว่า แม้ในชั้นแรกที่โจทก์ยื่นฟ้อง อำนาจฟ้องของตัวแทนยังมิได้รับมอบจากตัวการโดยสมบูรณ์ แต่ต่อมาโจทก์ก็ได้จัดการแก้ไขให้อำนาจแก่ตัวแทนเรียบร้อยแล้ว และยังได้ให้สัตยาบันรับรองการกระทำของตัวแทนในการกระทำที่แล้วมาด้วย และวินิจฉัยต่อไปว่า เป็นความผิดของบริษัทจำเลยที่จ่ายสินค้าให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิจะรับมอบสินค้า และไม่มีการแสดงตั๋วบรรทุกสินค้าหรือใบตราส่ง จำเลยจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบไม่ได้ พิพากษาให้บริษัทบอเนียว จำกัด จำเลยใช้เงิน 4,600 ปอนด์ กับดอกเบี้ยให้โจทก์และให้บริษัทหวั่นหลี จำกัด จำเลยใช้เงิน 98,400 เหรียญฮ่องกงกับดอกเบี้ยให้โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองคดีจะชำระเป็นเงินไทย ก็ให้คิดในอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯทำการขายเงินปอนด์และเงินเหรียญฮ่องกงในวันที่มีคำพิพากษานี้ถ้าไม่มีอัตราขายในวันนี้ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายก่อนวันพิพากษา

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้เงินเต็มตามจำนวนที่ฟ้องจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้บริษัทบอเนียว จำกัด ชำระเงิน148,110.96 เหรียญดอลล่าฮ่องกง ให้บริษัทหวั่งหลี จำกัด ชำระเงิน157,648.01 เหรียญดอลลาร์ฮ่องกงให้แก่โจทก์แต่ละรายพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้หากจะฟังว่าโจทก์เป็นตัวแทนที่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลและได้ฟ้องคดีทั้งสองนี้ จะถือว่าเนื่องจากเหตุฉุกเฉินยังไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าถ้าไม่ฟ้องคดีทั้งสองตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องนั้น จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคารแห่งประเทศจีน (ตัวการ) อย่างใด เช่นว่า คดีจะขาดอายุความหรืออย่างใดก็ไม่ปรากฏ จึงจะถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินยังไม่ได้ ทั้งจะถือว่าเป็นการปฏิบัติการอย่างเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำก็ไม่ได้ เพราะพิจารณาไม่เห็นว่า วิญญูชนจะปฏิบัติการทั้ง ๆที่ปรากฏอย่างชัด ๆ แล้วว่า ตามใบมอบอำนาจนั้น ตนไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีทางศาลในประเทศไทยได้ ซึ่งตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801(5) ก็ว่า การยื่นฟ้องต่อศาล (ซึ่งหมายความว่าศาลในประเทศไทย) นั้นต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องได้ด้วย จะดำเนินคดีโดยมิได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องหาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า นายซูเยนเซนจะอาศัยเหตุดังกล่าวฟ้องคดีไม่ได้ อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า จะยกเอา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 802 มาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้เลย เพราะมาตรา 802 เป็นบทบัญญัติให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า ตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวการได้ในเหตุฉุกเฉิน ข้อสำคัญก็ต้องเป็นตัวแทนเสียก่อนแล้วกระทำการซึ่งเป็นการจำเป็นต่อไป แต่ในกรณีของคดีนี้ นายซูเยนเซนเป็นตัวแทนของโจทก์แต่เฉพาะในอาณานิคมฮ่องกง หาใช่เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยไม่ เมื่อนายซูเยนเซนไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยแล้วก็ไม่มีกรณีที่นายซูเยนเซนจะอ้าง มาตรา 802 ได้ เพราะตนมิใช่ตัวแทนของโจทก์เสียแล้ว

ส่วนการที่โจทก์ดำเนินการจัดการเพิ่มเติมขยายใบมอบอำนาจขึ้นในภายหลังเนื่องจากโจทก์ได้ทราบข้อตัดฟ้องของจำเลยแล้วนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ฟ้องทั้งฉบับเดิมและฉบับหลังเพราะความปรากฏอย่างกระจ่างแจ้งแล้วว่า ในขณะยื่นฟ้องนายซูเยนเซนผู้รับมอบอำนาจหามีอำนาจดำเนินคดีในศาลในประเทศไทยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ การที่ศาลรับประทับฟ้องไว้จึงเป็นการขัดต่อวิธีพิจารณาตรง ๆ ไม่มีทางใดที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมาก็ดี ก็หากระทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้มาก่อนแล้วนั้นกลับคืนดีเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาขึ้นมาในภายหลังได้ไม่ คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น ๆ อีกต่อไป

ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองคดี

Share