คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421-422/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จำเลยออกคำสั่งให้นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 ของทางราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลมย่อมทำได้ เมื่อจำเลยได้ตราข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่ 10 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขึ้นมาใช้บังคับ ซึ่งมีคำจำกัดความ วิธีจัดตั้งกองทุนบำเหน็จหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จ วิธีการควบคุมรายรับ รายจ่าย ของกองทุนบำเหน็จทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ใช้ระเบียบการจ่ายบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 อีกต่อไปแล้ว หากแต่ใช้ข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่10 ถือปฏิบัติต่อไป ที่มาแห่งการตั้งกองทุนบำเหน็จเป็นคนละเรื่องกับที่มาแห่งค่าชดเชยหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จก็แตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชย ถือไม่ได้ว่าบำเหน็จที่โจทก์ได้รับจากจำเลยเป็นค่าชดเชย จำเลยจึงต้องมีหน้าที่จ่ายเงินค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ทั้งสองทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การรวมกันว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและบำเหน็จในกรณีเลิกจ้างแล้ว แต่ตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างพ.ศ. 2502 ระบุว่าในกรณีลูกจ้างผู้ใดมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้างฯลฯ อยู่แล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยนั้นมีจำนวนเงินต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้เท่าใดก็ให้จ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น โจทก์ทั้งสองมีสิทธิรับค่าชดเชยจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จจำเลยจึงจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสองไปมีค่าชดเชยอยู่ด้วยแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยได้อีก จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทั้งสองพ้นตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ เป็นการออกจากงานตามพระราชกำหนดเกษียณอายุของผู้ทำงานในองค์การของรัฐ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ไม่ใช่เพราะการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง

ในวันพิจารณาคู่ความรับกันว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินบำเหน็จตามคำให้การจำเลยแล้ว การคำนวณเงินบำเหน็จนั้นคำนวณตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 10ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2521

ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำสั่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ 7/2503 ระบุให้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502ของทางราชการมาใช้บังคับในองค์การจำเลยโดยอนุโลม เห็นว่า จำเลยมิใช่ส่วนราชการการที่จำเลยออกคำสั่งให้นำเอาระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับในองค์การของจำเลยย่อมทำได้ แต่จำเลยมิใช่ผู้ตั้งระเบียบดังกล่าวขึ้นมาเอง ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่หรือสิทธิที่จะไปยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบของทางราชการ เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้นำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับในองค์การของจำเลยโดยอนุโลมได้ ในทางกลับกัน จำเลยก็อาจยกเลิกไม่นำระเบียบนั้นมาใช้บังคับอีกต่อไปก็ได้ เมื่อจำเลยได้ตราข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่ 10 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขึ้นมาใช้บังคับในองค์การจำเลย ข้อบังคับนี้มีข้อความเริ่มด้วยคำจำกัดความ วิธีจัดตั้งกองทุนบำเหน็จ หลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จวิธีการควบคุมรายรับรายจ่ายของกองทุนบำเหน็จทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า จำเลยมิได้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 อีกต่อไปแล้วหากแต่ใช้ข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ฉบับที่ 10 ถือปฏิบัติต่อไป ข้อบังคับนี้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15(2) และมาตรา 23 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499 ที่มาแห่งการตั้งกองทุนบำเหน็จเป็นคนละเรื่องกับที่มาแห่งค่าชดเชยหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จก็แตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชย ถือไม่ได้ว่าบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากจำเลยเป็นค่าชดเชยจำเลยจึงต้องมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย

Share