คำวินิจฉัยที่ 46/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องนายอำเภอ น. ที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ถ. ที่ ๒ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๒ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด บ. ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๐๕๔ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๗๐.๖ ตารางวา ซึ่งบิดาเป็นผู้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยอาศัยหลักฐานการครอบครองเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๓๓๗ เนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ๓๓ ตารางวา และที่ดินหัวไร่ปลายนาที่ไม่มีเอกสารสิทธิประมาณ ๔ ไร่ รวมเป็น ๑๔ ไร่ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดชี้แนวเขตที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าเก่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๔ ไร่และที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๓๐๕๔ ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงคัดค้านการรังวัด โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการทางศาลภายใน ๖๐ วัน ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัด บ. รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) แปลงป่าช้าเก่า เนื้อที่ ๔ ไร่ การรังวัดเป็นไปตามหลักวิชาการด้านแผนที่ ในวันรังวัดผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ชี้แนวเขตและนำรังวัด แต่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านสิทธิทั้งแปลง เมื่อนำรูปแผนที่ลงที่หมายในระวางแผนที่ไม่ทับเอกสารสิทธิของบุคคลอื่น การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงป่าช้าเก่าแล้วผู้ฟ้องคดีอ้างว่ารังวัดรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน และเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share